FootNote : กรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ กับ กรณี มหาวิทยาลัย มหาหลอก

มีความพยายามจะใช้กลยุทธ์จาก “กรณีอุทยานราชภักดิ์” มาเป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อสลายบทบาทและความหมายของ เดอะ ซิด นีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ลงไป
นั่นก็คือ ใช้ความสงบ ความนิ่งเงียบ เพื่อไปสยบการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย
นั่นก็คือ โดยการไม่แถลง โดยการไม่ตอบโต้
โดยหวังว่าในที่สุด กรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ จะค่อยๆหมดและหายไปจากแวดวงข่าว เท่ากับสามารถตัดวงจรและความต่อเนื่องของข่าวลงอย่างสิ้นเชิง
ขณะเดียวกัน ก็อาศัยข่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตน ข่าวน้ำท่วมมากลบและเบี่ยงเบนความสนใจ
ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่

หากติดตามกรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ ตั้งแต่ต้นจนปลายก็ตอบได้เลยว่า ข่าวยังคงเลื่อนไหลและทำท่าว่าจะบานปลายขยาย ออกไปอย่างกว้างขวาง
จากความสงสัยว่า”ติดคุก”หรือไม่ ติด 8 เดือนหรือว่า 4 ปีเข้าสู่พรมแดนของ”ปริญญาบัตร”
ประการหลังมากด้วยสีสัน มากด้วยความยอกย้อน
ปมสำคัญที่ดูเหมือนจะถูกละเลยไปด้วยความไม่เข้าใจก็คือ ปมของการพูดไม่ว่าเรื่องของความผิด ไม่ว่าเรื่องของปริญญาบัตร
เนื่องจากเด่นชัดว่าพูดไม่ตรงกัน
ที่ว่าไม่เคยติดคุกก็เริ่มไม่ใช่แล้ว ที่ว่ามีการต่อรองกระบวนการต่อรองนั่นเองที่มีส่วนในการเปิดโปง
เพราะปัจจัยชี้ขาดคือ คำพิพากษาของ”ศาล”
เช่นเดียวกับกรณีของ”ปริญญาบัตร”เพราะที่ขนบรรดา”ด็อกเตอร์”ซึ่งเป็นคณะที่ปรึกษาทั้งหลาย ความจริงก็ปรากฏว่าคนเหล่า นั้นก็ล้วนแต่เป็น “ของปลอม”
“ความเท็จ” จึงถูกบดขยี้ด้วย “ความจริง” อัน “จริงแท้” ยิ่งกว่า

รัฐบาลอาจสามารถลากเรื่อง”ถวายสัตย์ปฏิญาณตน”มาได้ภายใต้วิธีวิทยาของการไม่ตอบ รัฐบาลอาจสามารถสร้างวาทกรรมสาดใส่ฝ่ายตรงข้ามได้ในกรณีน้ำท่วม
แต่ก็เป็นการถูลู่ถูกังไปอย่างทุลักทุเล
เช่นเดียวกับ กรณี เดอะ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ เช่นเดียวกับกรณีปริญญาบัตรที่มากับของปลอม
นับวันปัญหาก็จะยิ่งสะสม หมักหมมและหนักหนาสาหัส

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน