FootNote:ประชาธิปไตยการเลือกตั้ง อาวุธต่อกรกับ‘กอ.รมน.’

เป้าหมายของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษ 12 นักการเมืองและนักวิชาการ ด้วยความผิดในมาตรา 116 คือ ต้องการให้เกิดความหวาดกลัว

หวาดกลัวเพราะโทษยุยง ปลุกปั่น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการปกครองตามมาตรา 116 นั้นร้ายแรง

นั่นก็คือ ข้อหากบฎ

แต่ถ้าหากบรรดา 12 นักการเมืองและนักวิชาการอันเป็นเป้าหมายมิได้บังเกิดความกลัว ตรงกันข้าม กลับยืนยันในความบริสุทธิ์และจริงใจ

ทั้งยังพร้อมเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อไป ทั้งยังพร้อมงัดกลไกที่มีอยู่ในมือเพื่อตอบโต้และทำความจริงให้ปรากฏ

นั่นแสดงว่ามาตรการ”ป้องปราม”ไม่ประสบผลสำเร็จ

แม้ทางด้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะคึกคักด้วยความมั่นใจสูงเป็นอย่างยิ่ง แม้จะมีการขานรับจากระดับสูงในรัฐบาลรวมถึงท่าทีที่เอนเอียงอย่างเด่นชัดจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

กระนั้น ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เครื่องมือที่นักการเมืองจะใช้ในการตอบโต้คืออะไร

อย่างแรกสุดก็คือ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านยังประกาศเดินหน้า

เป็นการเดินหน้าเพื่อไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเนื้อหาตรงไหนบ้างที่คิดว่าสมควรจะแก้ไข

นั่นก็คือกระบวนการในการสร้าง จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่

ต่อมาก็คือ การใช้กลไกของรัฐธรรมนูญผ่านสภา

นั่นก็คือ คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน จะเชิญ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ มาสอบข้อเท็จจริงของการร้องทุกข์ แจ้งความ กล่าวโทษ

นี่คือการต่อสู้เท่าที่”รัฐธรรมนูญ”จะเปิดช่องทางให้

แม้บทบาทของ กอ.รมน.ซึ่งเข้ามาแทนที่บทบาทของ คสช.จะดูขึงขังเป็นอย่างยิ่ง แต่หากดูปฏิกิริยาอันเกิดขึ้นตามมาก็มีการเปลี่ยน แปลงอย่างเห็นได้ชัด

นี่ย่อมไม่เป็นเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในห้วง 5 ปีก่อน

ไม่เพียงเพราะคสช.ไม่ได้ดำรงอยู่ในทางเป็นจริง หากปัจจัยสำคัญก็คือ มีรัฐธรรมนูญและมีสภาผู้แทนราษฎร

อย่างน้อยก็มี”ประชาธิปไตย”เป็นอาวุธในการต่อสู้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน