FootNote : ความเคยชิน “เก่า” ของ “ผบ.ทบ.” ในการเมืองใหม่ หลังการเลือกตั้ง

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะออกมาแสดงความชื่นชมต่อคำบรรยายว่าด้วย “แผ่นดินของเรา” ของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ด้วยกัปปิยโวหารอย่างไรก็ตาม
แต่มติของที่ประชุมพรรคประชาชาติก็มองเห็นอย่างหนึ่ง
“น่าจะไม่ชอบด้วยหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แยกอำนาจหน้าที่ข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองออกจากกัน”
ยิ่งมติของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ยิ่งเข้มข้น
ถึงกับมีหนังสือเชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ให้เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันที่ 21 ตุลาคม

ต้องยอมรับว่าผลสะเทือนจากคำบรรยายในหัวข้อ “แผ่นดินของเรา” โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กว้างไกล ไพศาลและมีส่วนในการเบิก สถานการณ์ใหม่ในทางการเมือง
โดยเฉพาะมติของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯอาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรก
ครั้งแรกในการเชิญ ผบ.ทบ.เข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
หากมองตามขนบและธรรมนิยมโดยปรกติของระบอบประชาธิป ไตยที่”อารยะ” เรื่องเหล่านี้ธรรมดาอย่างยิ่ง เพราะเมื่อผบ.ทบ.บรรยาย ในสิ่งอันเป็นประเด็นก็ย่อมต้องมีการแปลกเปลี่ยน
แต่กล่าวสำหรับสังคมไทยที่ ผบ.ทบ.มีบทบาทเป็นอย่างสูงในทางการเมือง มติของคณะกรรมาธิการเช่นนี้ถือว่า “อ-ปรกติ” เท่ากับเป็นการลองของ
ลองว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะรับมืออย่างไร

ต้องยอมรับว่าสภาพการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นสภาพการณ์ใหม่
ขณะที่มีคนจำนวนหนึ่งยังติดอยู่กับความเคยชิน “เก่า”
เป็นการเมืองในห้วงแห่งรัฐประหาร เป็นการเมืองที่กองทัพเป็นฝ่ายกุมอำนาจ จึงสามารถออกมาพูดออกมาบรรยายพาดพิงถึงนักการเมืองและพรรคการเมืองได้
ทั้งๆที่ในความเป็นจริงนี่คือการเมืองในยุค “หลัง” คสช. การเมืองในยุค “หลัง” รัฐประหาร

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน