FootNote:พลังประชารัฐ รัฐธรรมนูญ การตื่นรู้ของประชาธิปัตย์

ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะปล่อยผ่าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ไม่ว่าจะปล่อยผ่าน นายวีระกร คำประกอบ

เด่นชัดและล่อนจ้อน

1 ไม่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์ช่วงชิงบทบาทนำในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

เหมือนกับต้องการปฏิเสธ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในที่สุดแล้ว ก็ติดเบรกให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญ คือไม่ต้องการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ”

การเสนอญัตติด่วนในลักษณะเดียวกันนี้ก็เพื่อไปสกัดขัดขวางและช่วงชิงการนำจากพรรคประชาธิปัตย์และจากฝ่ายค้าน

เปล่าเปลือยและล่อนจ้อนว่าเป้าหมายแท้จริงคืออะไร

ท่าทีเช่นนี้ของพรรคพลังประชารัฐ 7 พรรคฝ่ายค้าน “ร่วม” มองออกตั้งแต่ต้นแล้ว คำถามอยู่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์มองออกหรือไม่ และหากมองออกแล้วจะกำหนดท่าทีของตนอย่างไร

โดยพื้นฐานพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้คำตอบแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

แจ่มชัดว่าที่พรรคพลังประชารัฐยินยอมให้ประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนก็เสมอเป็นเพียงกลลวงเพื่อดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล

เพื่อให้ 52 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ “รู้” หรือไม่

ระดับ นายชวน หลีกภัย ย่อมรู้ ระดับ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ย่อมรู้ ระดับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ย่อมรู้

ถามว่าแล้วเข้าร่วมเป็นรัฐบาลเพื่ออะไร

มองในแง่ร้ายก็ต้องตอบว่าเพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างผลงานและเรียกคืนคะแนนและความนิยมที่เสียไป

มองในแง่ดีก็เพราะต้องการซื้อความรู้ทางการเมือง

ยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเพื่ออาศัยสถานะนี้ขับเคลื่อนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจริง ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน

และอาศัยการขับเคลื่อนนโยบายของตนเพื่อตรวจสอบธาตุแท้และความเป็นจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ถามว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ “รู้” แล้วจะตัดสินใจอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน