ผลสะเทือน-คำสั่ง‘ธนาธร’พ้นสส.

รายงานพิเศษ

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.อุบลราชธานี

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายธนาธรพ้นสภาพส.ส. ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ยังไม่มีใดๆ ตามมา แต่สิ่งที่ประชาชนและผู้ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ต้องติดตามต่อไป คือ ข้อกล่าวหาอีก 20 กว่าเรื่องที่รออยู่ จะมีผลต่อสมาชิกพรรคและอนาคตของพรรคอนาคตใหม่อย่างไร

หากศาลมีคำพิพากษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การคาดการณ์ไปถึงยุบพรรค ก็จะมีผลกระทบต่อเนื่อง กับสมาชิกพรรค รวมไปถึงพรรคร่วมฝ่ายค้านในสภา ที่ต้องร่วมมือกันทำงานผลักดันในหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ งานใหม่ๆ ที่เป็นเป้าหมายของแต่ละพรรค

และกระทบความรู้สึกประชาชนที่ติดตามการเมืองที่เกิดความสงสัยว่าพรรคอนาคตใหม่ถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายที่มีอำนาจหรือไม่ เรื่องนี้จะมีผลทางจิตวิทยากับผู้ที่ติดตามการเมืองและผู้สนับสนุนพรรคอนาคต ใหม่ เหมือนกับคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งกระทบกับพรรค ซึ่งมองว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน

ในแง่มุมกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนกำหนดเรื่องคุณสมบัติส.ส. เรื่องการถือครองหุ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง เพื่อต้องการใช้เป็นบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาบุคคลลงสมัครรับเลือกดังนั้น ก็ต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันทุกคน

ทั้งนี้มองว่าคำวินิจฉัยของศาลจะนำไปสู่การติดตามกรณีที่มีนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลบางคนถูกกล่าวหาในเรื่องคล้ายกับนายธนาธร แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดี ก็จะทำให้เกิดความข้องใจในบรรทัดฐานการใช้กฎหมาย

และผู้ที่ยื่นคำร้องกล่าวหาเอาผิดกับ ส.ส.ที่จดทะเบียนประกอบการครอบคลุมถึงการทำสื่อ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด นักกฎหมายควรเร่งดำเนินการให้ชัดเจน อย่าให้เกิดความอึมครึมหรือยังเป็นสีเทาไม่ชัดเจน ต้องดำเนินการเช่นกัน

ไม่ใช่เฉพาะกรณีของนายธนาธรแค่คนเดียวแต่ควรใช้มาตรฐานเดียวกันโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นฝ่ายใด ถ้าไม่ทำให้ชัดเจน ประชาชนจะหมดศรัทธาเพราะมองว่าเอาเรื่องสื่อมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทำลายล้างกัน ซึ่งไม่ดีต่อระบอบประชาธิปไตย

นายธนาธรยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ และคดีต่างๆ ที่ถูกกล่าวหา 20 กว่าเรื่องก็ยังไม่มีผล หากไม่ถูกยุบพรรค นายธนาธรยังเป็นผู้นำ ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งดีสำหรับพรรคอนาคตใหม่และเกิดผลดีกับฝ่ายค้านด้วย

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

นายธนาธรก็ยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ได้เป็นส.ส. จะทำอะไรก็สามารถทำได้ เพียงแต่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือเป็นส.ส.ไม่ได้เท่านั้นเอง

ส่วนบรรทัดฐานทางการเมืองนั้นอยากชี้ให้เห็นข้อควรระวัง และขอให้ฟังดีๆที่ในคำวินิจฉัยที่ระบุว่า “ระบุในบริคณห์สนธิว่าทำสื่อ แต่ไม่ได้ทำสื่อ ก็ต้องถือว่าทำสื่อ” ซึ่งในทางการเมืองก็จะลามกันไปหมดทั้งพรรคพลังประชารัฐ อนาคตใหม่ เพื่อไทย

เพียงแต่ระยะเวลาการพิจารณาเรื่องนี้ ของศาลรัฐธรรมนูญจะรวดเร็วแค่ไหน คดีของแต่ละพรรคการเมืองไปอยู่ระดับไหนแล้วในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งค่อนข้างจะชัดเจนอยู่แล้วว่าทั้งหมดต้องเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

ตอนนี้ก็โดนร้องกันหมดแล้ว มีตัวเลข โดนร้องกัน 40-60 คน ซึ่งขณะนี้เรายังไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาเรื่องของบุคคลเหล่านั้นไปถึงไหนแล้ว จึงต้องติดตามความคืบหน้า

แต่คำที่ระบุในคำวินิจฉัยที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะถ้าถือว่าบริคณห์สนธิไม่ได้ทำก็ถือว่าทำนั้น ต่อไปทุกบริคณห์สนธิในการจดทะเบียนบริษัทก็จะทำให้เป็นปัญหา

ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ตรงคำวินิจฉัย แต่ปัญหาอยู่ที่รัฐธรรมนูญว่า มาตรา 98 (3) นั้น กำหนดขึ้นมาทำไม

เพราะนักการเมืองในต่างประเทศก็เป็นเจ้าของสื่อ ส.ส., ส.ว.ในอเมริกาก็เป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสื่อในท้องถิ่น หรือหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่น บรรดาส.ส., ส.ว. ในต่างประเทศเขาก็เป็นเจ้าของสื่อ ตรงนี้สำคัญเพราะเมื่อเราไปกำหนด ให้ผิดปกติจึงเกิดการกระทบขึ้น

ซึ่งในบริคณห์สนธิไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกที่จะเขียนครอบจักรวาล เพราะคนจดทะเบียนบริษัทก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้าง ไม่มีใครแปลกเลย

แต่ที่แปลกคือในตัวรัฐธรรมนูญที่กำหนดแบบนี้ แล้วยิ่งเมื่อศาลมีกำหนดแบบนี้ยิ่งจะพันกันไปหมด เพราะฉะนั้นทางแก้ก็คือต้องกลับมาดูที่ตัวรัฐธรรมนูญเมื่อเขียนแบบนี้แล้ว เกิดปัญหาไม่สอดคล้อง

ก็ต้องถามกลับไปว่าเจตนารมณ์ที่เขียนแบบนี้ เขียนขึ้นมาเพื่ออะไร คำตอบก็บอกว่าเขียนขึ้นมาเพราะจะใช้สื่อเป็นประโยชน์กับตัวเอง นี่คือจุดประสงค์ที่จะเข้าไปมีสื่อ มีโทรทัศน์ มีทีวี มีหนังสือพิมพ์เพื่อเอาเปรียบคนอื่น

ซึ่งตรงนี้หมายความว่าคนที่เป็นเจ้าของสื่อจะเอาเปรียบคนอื่น แล้วคนที่ไม่มีสื่อก็จะไม่เอาเปรียบ เพราะฉะนั้น ถ้าใครจะไปถือหุ้นจึงมองว่าจะไปเอาเปรียบ แต่ในความจริงทางการเมืองแล้วมันเป็นเรื่องปกติที่เป็นเจ้าของสื่อได้ ไม่มีเหตุผลที่จะต้องไปกำหนดแบบนั้น

ลักษณะดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าการใช้เงินในการซื้อสื่อ มาตรา 98 ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การใช้เงินของนักการเมืองในการซื้อสื่อนั้นถึงแม้ว่ามีมาตรา 98 ทุกคนก็เห็นสภาพอยู่ว่าทีวีบางช่องฝ่ายการเมืองสามารถเข้าไปมีบทบาทได้อยู่ เขาอาจจะรอดจากมาตรา 98 เพราะหลีกหนีในการเข้าไปซื้อหุ้น แต่การครอบงำหรือลักษณะของนอมินีต่างๆ ยังมีอยู่

ตรงนี้คิดว่าน่ากลัวกว่าที่ได้พูดมาข้างต้นเสียอีกว่าใครเป็นเจ้าของสื่อ พวกนั้นจะได้ออกทีวีบ่อย ใครเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์คนนั้นจะได้ออกหนังสือพิมพ์บ่อย แล้วจะเอาเปรียบเพื่อน

ซึ่งตรงนั้นไม่น่ากลัวเพราะเป็นเรื่องปกติของการแข่งขันในระบอบประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญคือถ้าคุณ ใช้เงินซื้อสื่อ ให้โฆษณาให้กับพรรคตัวเองแล้วโจมตีพรรคตรงข้ามเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่า ซึ่งมาตรา 98 (3) ไปไม่ถึง

มาตรา 98 (3) เจาะไปที่ตัวคุณสมบัติของส.ส. คุณสมบัติของรัฐมนตรีว่า ต้องไม่ถือหุ้นสื่อ แต่การใช้เงินหรือใช้อิทธิพลเข้าไปครอบงำทีวี วิทยุโทรทัศน์ ตรงนี้ไม่มีเขียนระบุ อย่างนี้เอาเปรียบคนอื่น

ส่วนผลกระทบกับพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธรยังเป็นหัวหน้าพรรคอยู่ หากมองในแง่จิตวิทยาก็มีผลทั้ง ทางบวกและทางลบ ในทางลบทราบอยู่แล้วว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ ทำให้การตรวจสอบขณะที่หัวหน้าพรรคอยู่ข้างนอกอาจทำได้ไม่เต็มที่

แต่ในทางบวกก็อาจจะเป็นกระแสตีกลับ ในลักษณะที่บอกว่าคำวินิจฉัยของศาลเช่นนี้ส่งผลกระทบในภาพกว้างและทำให้นักการเมืองได้รับผลกระทบกันหลายคน ตรงนี้อาจจะเป็นผลในทางบวกที่เหมือนกับว่า เกิดความเป็นธรรมหรือไม่ อย่างนี้เป็นต้น

อยากจะบอกว่ามาตรา 98 (3) นั้น เป็นปลายทางแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่า การกำหนดดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหา การใช้ทุนในทางการเมืองเข้าครอบงำสื่อ ในประเด็นที่ได้พูดไปข้างต้นถือเป็นจุดที่สำคัญที่สมควรจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ส่วนตัวมองว่าแม้นายธนาธรจะสิ้นสภาพความเป็นส.ส. ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในภาพรวม รวมถึงอาจส่งผลกระทบกับกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของการทำกิจกรรม หรือการเคลื่อนไหวในทางการเมือง ซึ่งอาจถูกกีดกันหรือสกัดกั้นได้ตลอดเวลา

แต่มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อนายธนา ธร รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าจะทำให้ความนิยมทั้งต่อนายธนาธร และพรรคมีเพิ่มขึ้น ทั้งจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ฐานคะแนนเสียงเดิมของนายธนาธรก็จะมีความมุ่งมั่นและเข้มแข็งมากขึ้นต่อพรรคอนาคตใหม่

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียโอกาสที่จะได้คนที่มุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาในระบบการเมือง เพราะถูกกีดกันจากระบบการเมืองรุ่นเก่าๆ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายธนาธรพ้นสภาพความเป็น ส.ส.กรณียังถือหุ้นสื่อ คำวินิจฉัยดังกล่าวควรจะเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้ในการพิจารณาคดีที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคต ซึ่งขณะนี้ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทราบว่ามีการยื่นร้องกันไปก่อนหน้านี้ ต้องติดตามดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายธนาธรคงจะไม่เป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงอย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับเกาะ ฮ่องกง โอกาสที่จะเกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองเป็นไปได้ยาก เพราะบรรยากาศ และความหวาดกลัวอำนาจของรัฐยังคงมีอยู่

ขณะนี้นายธนาธรยังเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่อยู่ แม้ไม่ได้เป็นส.ส.แล้ว แต่การทำงานการเมืองอาจมีผลกระทบบ้าง อาจเจออุปสรรคขัดขวางการก้าวต่อไปของนายธนาธร เพราะไม่รู้ว่าจะเจอการใช้ข้อกฎหมายอะไรมาอ้างอิง หรืออาจถูกยื่นตีความในแง่กฎหมาย เช่น คนนอกห้ามมีอิทธิพลครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่

แต่เป็นเพียงสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และยังมีบทบาทภายในพรรคอยู่ ก็อาจไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน