วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

น้าชาติ ประชาชื่น

วันรัฐธรรมนูญ10ธันวาคม – วันรัฐธรรมนูญ เริ่มขึ้นอย่างไร หมายถึงที่มาของวันนี้

เดือนเสี้ยว

ตอบ เดือนเสี้ยว

คำตอบอยู่ในบทความเรื่อง “10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ กับพระราชหฤทัย .7 จากฉบับชั่วคราวถึงฉบับถาวร โดย เมฆา วิรุฬหก เผยแพร่ในเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com/ ดังนี้

ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มคณะราษฎรได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จ ทำให้สยามมีระบอบรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พวกเขาร่างขึ้นจะมีอายุสั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงเพิ่มคำว่าชั่วคราวลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรียกกันต่อมาว่าฉบับถาวรอันประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน

วันรัฐธรรมนูญ10ธันวาคม

เรื่องนี้ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นคว้าถึงเบื้องหลังความเป็นมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไปจนถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ของรัชกาลที่ 7

เริ่มต้นตั้งแต่การที่ทรงใส่คำว่าชั่วคราวในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร ดร.ภูริชี้ว่า เป็นผลมาจากความไม่พอพระราชหฤทัยดังที่ได้ทรงเปิดเผยในคราวสละราชสมบัติว่าครั้นเมื่อได้เห็นรัฐธรรมนูญฉะบับแรกที่หลวงประดิษฐฯ ได้ทำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้าก็รู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการฯ กับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว

แต่เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรขึ้นมา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งคณะราษฎรเลือกให้เป็นผู้นำระบอบใหม่ และยังเป็นประธานของอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย ได้กลายเป็นผู้ประสานงานกับรัชกาลที่ 7 อย่างใกล้ชิด และทำให้พระองค์พอพระราชหฤทัยได้

ดังที่ ดร.ภูริ กล่าวว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดาติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสม่ำเสมอ เฝ้าปรึกษาหารือ และมักดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชประสงค์ นับตั้งแต่เรื่องใหญ่โตอย่างการให้เจ้านายอยู่เหนือการเมือง ไปจนถึงเรื่องปลีกย่อยอย่างการเลือกใช้คำ

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกเมื่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะเอนเอียงไปในทางอนุรักษนิยม ซึ่งนี่ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 ทรงแสดงท่าทีเชิงบวกอย่างเด่นชัด

ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ทรงเป็นผู้เสนอให้ใช้พระที่นั่ง อนันตสมาคม และให้เชิญคณะทูตานุทูตเข้าร่วมชมพระราชพิธี ทั้งยังให้โหรหลวงประจำราชสำนักไปหาฤกษ์สำหรับพระราชทานรัฐธรรมนูญด้วย

การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเขียนลงบนสมุดไทยด้วย ก็เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระองค์เอง ดังที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาชี้แจงว่าโดยที่ทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการเขียนลงใส่สมุดไทย

เมื่อมีเส้นตายตามฤกษ์ ที่กำหนดไว้แล้ว และยังต้องจารึกลงสมุดไทยซึ่งต้องใช้เวลานาน ทำให้พระยามโนปกรณ์ นิติธาดาต้องเร่งรัดสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณาจนเสร็จสิ้นรีบปรึกษาเสียแต่เช้าไปตลอดวัน และถ้าสามารถก็จะให้จนถึงกลางคืนด้วยสิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งคือ การร่างคำประกาศที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

ซึ่งมีความตอนหนึ่งบอกถึงเรื่องที่มาของรัฐธรรมนูญว่าข้าราชการทหารพลเรือนและอาณาประชาราษฎรของพระองค์ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากรุณา ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า หลังราชวงศ์จักรีได้บริหารบ้านเมืองมายาวนานประชาชนชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิปาลโนบาย

สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นดีเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยาม ดังนั้น จึ่งทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์

ซึ่งตรงนี้ ดร.ภูริกล่าวว่า ผู้ร่างคำประกาศดังกล่าว คือ พระสารประเสริฐ ร่างขึ้นตามแนวทางอนุรักษนิยม ให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้มีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานกำเนิดรัฐธรรมนูญตามคำกราบบังคมทูลของประชาชน มีการเน้นย้ำเรื่องความราบรื่น แต่ไม่มีการพูดถึง คณะราษฎร หรือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ..2475 แต่อย่างใดรัฐธรรมนูญจึงถือกำเนิดขึ้นจากการพระราชทานตามคำกราบบังคมทูล หาใช่จากการยึดอำนาจ หรือการปฏิวัติ

ส่วนรูปแบบพระราชพิธี ดร.ภูริชี้ว่าถูกออกแบบมาด้วยความระมัดระวังช่วยให้พระมหากษัตริย์ครองสถานะเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับถาวร กฎหมายสูงสุดเป็นของพระราชทานจากเบื้องบนจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หาใช่คณะราษฎร

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน