FootNote:เงาสะท้อนฉายาว่ารัฐอิสระ ฉายลึกไปยัง‘ประชาธิปัตย์’

ฉายา “รัฐอิสระ” อันนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลมอบให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ลึกซึ้งและกว้างไกลอย่างยอดเยี่ยมในทางรัฐศาสตร์ทางการเมือง

ความหมายไม่เพียงครอบคลุมท่วงทำนองการเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น

หากหมายรวมไปถึง”พรรคประชาธิปัตย์”อย่างมีนัยสำคัญ

บทสรุปนี้จึงเป็นตัวแทนความรู้สึกอันมาจากรัฐมนตรีคนอื่น และจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะที่พรรคพลังประชารัฐคุมได้มีแต่เพียง กระทรวงการคลังเท่านั้น

มิใช่กระทรวงพาณิชย์ มิใช่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

การดำรงอยู่ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ การดำรงอยู่ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จึงไม่แตกต่างไปจาก”รัฐอิสระ”

ความหมายของ “รัฐอิสระ” เป็นความแจ่มชัดตั้งแต่แรกตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลก่อนวันที่ 5 มิถุนายน 2562 มาแล้ว

สัมผัสได้จาก “เงื่อนไข”

เป็นเงื่อนไขการผลักดันนโยบายประกันราคา ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ไม่ว่าจะเป็นข้าว ไม่ว่าจะเป็นปาล์มน้ำมัน อันล้วนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ

เป็นเงื่อนไขที่จะต้องมีการแก้ไข”รัฐธรรมนูญ”

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำเป็นต้องบรรจุเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วน

กลายเป็น”บ่วง”คล้องคอของ “รัฐบาล”

ไม่ว่าจะแก้เกมด้วยการดึงเอา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มานั่งเป็นประธาน “บ่วง”นี้ก็ยังพันอยู่โดยรอบ

รอบลำคอแข็งแกร่งของ “อิเหนาเมาหมัด”ไม่แปรเปลี่ยน

พรรคประชาธิปัตย์อาจเคยอ่านงานของ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ มาแล้วอย่างเจนจบ โดยเฉพาะเมื่อแยกจำแนกบทบาทและความหมายระหว่างม้ากับควาย

ควายดำรงอยู่อย่างเชื่องๆ ขณะที่ม้าดำรงอยู่อย่างที่เรียกว่าพร้อมจะดีดกะโหลก

ควายจึงไม่ได้รับความสนใจปล่อยให้นอนจมปลักไป

ขณะที่ม้าจะได้รับการอาบน้ำ เช็ดถู และแต่งองค์ทรงเครื่องโอ่อ่าอลังการ

พรรคประชาธิปัตย์จึงเป็น”ม้า” มิใช่”ควาย”แบบบางพรรค

การเพรียกหา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ การเพรียกหา นายเฉลิม ชัยศรีอ่อน จึงดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในระหว่างงานเลี้ยงทางการเมือง

เป็นการเพรียกหาและต้องการความอบอุ่นอย่างเป็นพิเศษ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน