อภิปรายไม่ไว้วางใจ (ตอนจบ)

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

อภิปรายไม่ไว้วางใจ – วานนี้ (11 ..) “สาระถามว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความเป็นมาอย่างไร เมื่อวานตอบถึงความสำคัญไปแล้ว วันนี้ดูหลักเกณฑ์ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปราย โดยคำตอบนำมาจากฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา ได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แต่ได้เพิ่มหลักการสำคัญซึ่งแตกต่างไปจากฉบับอื่น เรียกว่าการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล

1. การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี กระทำได้โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ญัตติดังกล่าวต้องเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปด้วย และเมื่อเสนอญัตติแล้ว จะยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่มีการถอนญัตติ หรือมติไม่ไว้วางใจมีคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

2. การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล กระทำได้โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในหกของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวมทั้งยังสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ย้ายไปเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งอื่นได้ด้วย

อภิปรายไม่ไว้วางใจ

ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดไว้ว่า รัฐมนตรีคนใดพ้นจากตำแหน่งเดิมแต่ยังคงเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งอื่นภายหลังจากวันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติดังกล่าว ให้รัฐมนตรีคนนั้นยังคงต้องถูกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อไป

สำหรับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ เดิมกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้วตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เพิ่มบทบัญญัติให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยเงื่อนไขหนึ่งคือ เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง

ในกรณีของการเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ถ้าเกี่ยวกับพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย จะเสนอได้จะต้องยื่นคำร้องขอถอดถอนต่อประธานวุฒิสภาเสียก่อน

โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง

นอกจากหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ยังได้เพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่เข้ามา คือ ให้สิทธิสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้แม้จะมีจำนวนสมาชิกไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดก็ตาม โดยสามารถเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายได้ต่อเมื่อ

1.คณะรัฐมนตรีได้บริหารราชการแผ่นดินเกินกว่า 2 ปีแล้ว หรือ 2.มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล (ฝ่ายค้าน) เข้าชื่อเสนอญัตติมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค การเมืองที่ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาล (ฝ่ายค้าน) ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

การลงมติ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา บัญญัติวิธีการตรวจสอบเมื่อการอภิปรายทั่วไปสิ้นสุดลงให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ ยกเว้นกรณีที่ประชุมได้ลงมติให้ผ่านระเบียบวาระเปิดอภิปรายนั้นไป

โดยการลงมติมิให้กระทำในวันเดียวกับวันที่การอภิปรายสิ้น สุดลง และมติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่มติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งต่อไป

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน