FootNote : กระแสเรียกร้องทางการเมือง โลดแล่นไกลกว่าการปรับครม.

ข้อเรียกร้องในเรื่องการปรับครม.อันกระหึ่มในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพรรคพลังประชารัฐ

สะท้อนไม่เพียงปัญหาอันดำรงอยู่ภายในรัฐบาล หากแต่ยังก่อสภาวะแปลกแยกอย่างสูงในทางการเมือง

ต้องยอมรับว่า 1 เป็นผลจากการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐมนตรี

เป็นเหตุผลให้นำไปสู่การเรียกร้องภายในรัฐบาล

ต้องยอมรับว่า 1 เป็นความต้องการภายในของพรรคพลังประชารัฐที่จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีแทนรัฐมนตรีอันถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนเป็น ตัวฉุดของรัฐบาล

ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นปัญหาของพรรคพลังประชารัฐอันเป็นแกนนำของรัฐบาล

ขณะที่ความเรียกร้องต้องการของ “สังคม”ไปไกลยิ่งกว่านั้น

ความเรียกร้องต้องการของ “สังคม”อันดังอย่างกึกก้องตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ FLASH MOB เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ณ ลานสกาย วอล์ก แยกปทุมวัน

ทุกคราที่มีการเอ่ยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นก็จะตามมาด้วย เสียงตะโกน “ออกไป๊ ออกไป๊” ดังกึกก้อง

และเมื่อเกิดปรากฏการณ์จุดเทียน สร้าง FLASH MOB ไม่ว่าจะเป็นที่ลานปรีดี พนมยงค์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไม่ว่าจะเป็นลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร

ทุกคราที่มีการเอ่ยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นก็จะตามมาด้วย เสียงตะโกน “ออกไป๊ ออกไป๊”ดังกระหึ่ม

เสียงเหล่านี้กำลังขยายกว้าง ไม่เพียงแต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากแต่แพร่กระจายออกไปในขอบเขตทั่วประเทศ

เท่ากับชี้ทิศทางแห่งความต้องการอันมากกว่าเพียงการปรับครม.

ถามว่าปฏิกิริยาของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ซึ่งกระหึ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และต่อเนื่องมายังเดือนมีนาคม เป็นปฏิกิริยาอันมาจากการเสี้ยมสอน หรือปลุกปั่นของกลุ่มและพรรคการเมืองใดหรือไม่

หากติดตามปรากฏการณ์จุดเทียน สร้าง FLASH MOB ก็จะตอบได้ว่าไม่ใช่

เป็นความอัดอั้นตันใจที่ค้างคาอยู่ในอกอย่างยาวนานต่อเนื่อง

ยาวนานจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

และรวมศูนย์อยู่ที่การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ความหมายมิได้อยู่ที่การปรับครม. ตรงกันข้าม หากย้อนไปไกลถึงกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ ทอดยาวมายังการจัดการเลือกตั้ง

บรรดาความล้มเหลวทั้งหมดในรอบ 1 ทศวรรษล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน