FootNote:การเปิดตัวชุมชนสมาร์ทโฟน จากมหาวิทยาลัยไป‘รัฐสภา’

การปรากฏตัวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาซึ่งมีบทบาทร่วมในปรากฏการณ์ Flash Mob ณ รัฐสภา เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม ทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

เป็นไปตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

เท่ากับเป็นการดึงจาก”มหาวิทยาลัย”ไปยัง”รัฐสภา”

เมื่อยังไม่สามารถเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายทั่วไปในประเด็นปัญหาจากปรากฏการณ์ Flash Mob โดยไม่มีการลงมติได้

การดึงนิสิตนักศึกษาจากแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยการเปิดเวทีให้จึงเท่ากับเป็นการผ่อนคลายภาวะตึงเครียดของปัญหา

นิสิต นักศึกษา เองก็ตระหนักและเข้าใจในรากฐานเป็นมา

ไม่ว่านักศึกษาที่มาจากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่ว่านักศึกษาที่มาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ไม่ว่านักศึกษาที่มา จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ล้วนมีความเข้าใจในสถานะของตนเองว่ามิได้ดำรงอยู่ในฐานะผู้แทนของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ

เขามาเพราะมีคำเชิญและให้ความเคารพต่อคำเชิญ

ขณะเดียวกัน พวกเขาก็อาศัยเวทีนี้ 1 แสดงความเห็นต่อสภาพ ความเป็นจริงของรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดต้องมีการแก้ไข และ 1 อาศัยเวทีนี้เชื้อเชิญคณะกรรมาธิการให้ไปฟังความเห็นจากการชุมนุม

เด่นชัดอย่างยิ่งว่า พวกเขายังไม่คิดในเรื่องออกจากมหาวิทยาลัยและไปเคลื่อนไหวบนท้องถนน เด่นชัดอย่างยิ่งว่า พวกเขาดำเนินการในแต่ละแห่งอย่างเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง

ไม่มี “นักการเมือง” ไม่มี”พรรคการเมือง”อยู่เบื้องหลัง

ไม่ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า ไม่ว่านักสังเกตการณ์ที่เฝ้าติดตามกระบวนการเคลื่อนไหวในทางการเมือง

น่าจะได้บทสรุปร่วมว่า กระบวนการนิสิตนักศึกษาได้”ตื่น”ขึ้นมาแล้วในทางสังคม ในทางการเมือง

และรูปการตื่น การเคลื่อนไหวของพวกเขาได้เปลี่ยนไป

เปลี่ยนไปจากยุคเมื่อเดือนตุลาคม 2516 เปลี่ยนไปจากยุคเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

พวกเขาคือคนในโลกยุคใหม่ ยุคแห่ง”สมาร์ทโฟน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน