ฟื้นความเชื่อมั่นก่อน

คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ฟื้นความเชื่อมั่นก่อน : บทบรรณาธิการ – หากประเมินคร่าวๆ ถึงระยะเวลาที่โรค โควิด-19 จะพ้นการระบาดสูงสุดในโลก น่าจะอยู่ในช่วงกลางปี 2563 ตามที่จีนใช้เวลาราว 2 เดือนกว่าในการปิดเมืองและคุมการเข้าออกทั้งประเทศ สถานการณ์จึงคลี่คลาย

ดังนั้น ยุโรป ศูนย์กลางแห่งใหม่ของโรค รวมถึงอเมริกาเหนือ ที่เริ่มวิกฤตเดือนมี.ค. น่าจะใช้เวลาไม่น้อยไปกว่ากัน

ส่วนกรณีประเทศไทย ความวิตกอยู่ที่การยกระดับของสถานการณ์ขณะนี้ว่าจะเข้าสู่ระยะที่ 3 ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศหรือไม่

เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นอาจต้องใช้มาตรการปิดเมืองหรือปิดประเทศ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยิ่งสาหัสเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของไทยเป็นเรื่องความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ที่แม้แต่ภาคเอกชนจับสัญญาณได้ว่า ไม่ว่ารัฐจะออกมาตรการ หรือชี้แจงอะไรออกมา ประชาชนเริ่มไม่ฟัง หรือมีอคติ ไม่เชื่อมั่น และเริ่มต่อต้านมากขึ้นต่อเนื่อง

ยิ่งถ้ารัฐบาลจับจุดผิดว่ากระแสดังกล่าวมาจากสื่อมวลชนเป็นฝ่ายวิจารณ์เอง แทนที่จะมองว่าสื่อมวลชนสะท้อนเสียงชาวบ้าน จะยิ่งทำให้ภาพการมองปัญหาพร่ามัวยิ่งขึ้น

เช่นเดียวกับการนำเสนอว่า ระบอบการปกครองที่เด็ดขาดจะทำให้คุมเชื้อได้มากกว่า ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อการขอความร่วมมือหรือทำความเข้าใจกับประชาชน

ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 ไทยเคยผ่านวิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมหันตภัยสึนามิ โรคระบาดอย่างซาร์ส และไข้หวัดนกมาแล้ว

เป็นตัวอย่างว่ารัฐบาลในระบอบประชา ธิปไตยแก้ไขและรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะยิ่งได้รับความร่วมมือและความเชื่อมั่นจากประชาชน

แม้ว่าโควิด-19 เป็นโรคที่ระบาดได้ซับซ้อนกว่าโรคภัยที่ผ่านมา แต่หากรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นได้ ด้วยข้อมูลข่าวสารและระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงประชาชน การประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการราบรื่น การบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

ก่อนส่งต่อการฟื้นตัวในระยะกลาง และระยะยาว ที่ภาคเอกชนประเมินว่าผลกระทบจาก โควิด-19 จะลากยาวไปจนตลอดปี 2564

ขณะนี้รัฐบาลอย่าเพิ่งมองหาศัตรู หรือปล่อยให้ลูกพรรคด่าว่าประชาชน ทบทวนการทำงานของตนเองที่จะเรียกความเชื่อมั่นก่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน