FootNote: บทเรียน ไวรัส ณ สุวรรณภูมิ บทเรียน ไฟป่า ณ ดอยสุเทพ

ถามว่าวิกฤตไฟป่าที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงในทางสังคมขณะนี้มีมูลเชื้อมาอย่างไร
เพราะการเสียชีวิตของ “อาสาสมัคร” ไปแล้ว 4 คนหรือ
เพราะสภาพความเป็นจริงที่เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ประสบและทวีความรุนแรง ร้ายกาจมากยิ่งขึ้น ไม่อาจปิดบังซ่อนเร้นได้หรือ
เพราะการไม่มีทิศทาง แนวทางที่แน่นอนของหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือ
ล้วนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ตรงเป้าได้ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน คำตอบเหล่านี้วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่และส่งผลสะเทือนหนักหนาสาหัสเป็นลำดับ
ขึ้นอยู่กับว่าสังคมจะยอมรับและถือเป็นบทเรียนอย่างไร

แท้จริงแล้วปัญหาของไฟป่าก็เช่นเดียวกันกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส นั่นก็คือขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เพียงแต่ว่าอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องของไวรัส อย่างหนึ่งเป็นเรื่องของไฟและฝุ่นผงอันตราย
หากมองตามความเป็นจริงการเกิดขึ้นของไฟป่าการเกิดขึ้นของไวรัสมีความแตกต่าง
การเกิดขึ้นของไฟป่าอันส่งผลสะเทือนก่อให้มีฝุ่นผงพีเอ็ม 2.5 เกิดขึ้นในลักษณะสะสมและมีดัชนีความรุนแรงมา 3 ปีแล้วขณะที่ไวรัสเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2562
ท่าทีของรัฐบาลอาจเน้นไปที่ไวรัสแต่ละเลยเรื่องไฟป่าและฝุ่นผงพีเอ็ม 2.5 ทั้งที่ในความเป็นจริง ไม่ว่าไวรัส ไม่ว่าฝุ่นผงพีเอ็ม 2.5 ล้วนก่อความเสียหาย ล้วนมีอันตรายต่อประชาชนไม่ยิ่งหย่อนกัน
กระนั้น มาตรการ “ร่วม” ที่จะต้องใช้คือ “ประชาสังคม”

คำว่า “ประชาสังคม” นั้นความหมายอันเที่ยงแท้ก็คือ การร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในทางสังคมขึ้นในลักษณะสร้างสรรค์
ท่าทีในแบบปัดปฏิเสธบทบาทของประชาชน ไม่ว่าในกรณีของไวรัส ไม่ว่าในกรณีของพีเอ็ม 2.5 ล้วนเป็นปัญหา
เหมือนที่เกิดขึ้น ณ สุวรรณภูมิ เหมือนที่เกิดขึ้น ณ เชียงใหม่
ขณะเดียวกัน รัฐในฐานะที่มีบทบาทนำจำเป็นต้องดำเนินการกับทุกปัญหาอย่างมีความเข้าใจและเที่ยงธรรม
หากไม่ยึดหลักการนี้แล้ว “ประชาสังคม” ก็จะไม่เกิด

กดติดตามไลน์ข่าวสด official account ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน