FootNote:กระแสกดดันทหาร ส.ว. สถานการณ์ไวรัสระบาด

ไม่ว่าข้อเรียกร้องให้เกลี่ยงบประมาณโดยเน้นไปยัง “กลาโหม” ไม่ว่าข้อเรียกร้องให้ “ผู้แทนปวงชน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ว.เสียสละในเรื่องของเงินเดือน

เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณ เท่ากับเป็นการเตือนอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง

สะท้อนความรู้สึกลึกๆที่ดำรงอยู่ภายใน “สังคม”

สะท้อนว่าสังคมมองบทบาทและความหมายของ ส.ว.อย่างไร สะท้อนว่าสังคมรับรู้และเปรียบเทียบกระบวนการจัดสรรงบประมาณ”กลาโหม”อย่างไร

ความรู้สึกนี้เหมือนกับเป็นตะกอนนอนก้น หากไม่มีปัญหาที่รุนแรงแหลมคมก็จะนอนก้นอยู่ต่อไป

แต่พลันที่มี “วิกฤต” ที่นอนก้นก็จะ”ลอยตัว”ขึ้นมา

ประเด็นของ ส.ว.มีความแจ่มชัดเมื่อเปรียบเทียบกับบทบาทของ ส.ส.ในการทำหน้าที่ในฐานะ”ผู้แทนปวงชน” ปกป้องรักษาผลประ โยชน์ของประชาชน

แจ่มชัดเพราะว่างานเด่นเพียงหนึ่งเดียวของ ส.ว.คือปกป้องรัฐบาล ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะว่าแต่งตั้งมาโดยอำนาจของ “คสช.”

ขณะเดียวกัน กระทรวงกลาโหมคือรากฐานแห่งอำนาจของคสช. ไม่ว่าจะเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเป็นผบ.ทบ.

ยิ่งมีการเปรียบเทียบงบประมาณระหว่างกระทรวงกลาโหม กับกระทรวงสาธารณสุขก็จะยิ่งเห็นจุดต่างระหว่างฟ้ากับเหว ในท่ามกลางการทำงานอย่างหนักของบุคลากรทางการแพทย์

เสียงเรียกร้องให้ตัด เกลี่ย โอน จึงดังกระหึ่ม

กระทรวงกลาโหมดูจะกระสาต่อเสียงเรียกร้องในทางสังคมจึงออกมาแถลงอย่างสอดรับกับสถานการณ์ ว่ามีความพร้อมเต็มเปี่ยมที่จะตัดเกลี่ย โอน

ตรงกันข้าม กับบรรดา ส.ว.ซึ่งส่วนหนึ่งมิได้สำเหนียก สำนึก และตระหนัก

ยิ่งกว่านั้น ยังแสดงบทบาทไอ้ห้อย ไอ้โหนอย่างเต็มที่

ความรู้สึกในทางสังคมก็ยิ่งแพร่ขยาย กลายเป็นกระแสกดดันอันหนักหน่วงและรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ยิ่งสถานการณ์ไวรัสสาหัส การกดดันจะยิ่งกว้างขวางใหญ่โต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน