รำลึก 10 ปีสลายชุมนุมพ.ค.53

รายงานพิเศษ

รำลึก 10 ปีสลายชุมนุมพ.ค.53 : เดือนพ.ค.63 ครบรอบ 10 ปี การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-19 พ.ค.53 ซึ่งรัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็มจำนวนมาก

จนถึงวันนี้คดีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ได้รับความกระจ่าง

 

สมบัติ บุญงามอนงค์

อดีตแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

ปีนี้ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์พฤษภา 53 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการพิสูจน์อีกครั้งว่า อาชญากรรมโดยรัฐ ไม่มีโอกาสและไม่เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้จริงๆ ยังไม่ใช่เวลาที่กระบวนการยุติธรรมจะเป็น กระบวนการที่สร้างความยุติธรรมจริงๆ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการยิงเลเซอร์พร้อมติดแฮชแท็ก “ตามหาความจริง” พร้อมกับการเคลื่อน ไหวของคณะก้าวหน้า เป็นการ สะท้อนว่าคิดว่า 10 ปี สังคมยังไม่ลืมกัน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ ปี 53 ไม่ใช่ข่าวประเภทเกิดขึ้นลงหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งแล้วทุกอย่างจะผ่านไป แต่มีคนที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนับแสนนับล้านคนที่เอาชีวิตไปผูกกับเหตุการณ์นี้ หลายครอบครัวที่ถูกไล่ล่า ถูกดำเนินคดี

เหตุการณ์ปี 53 ถือเป็นการสร้างบาดแผล สร้างความทรงจำที่เจ็บปวด ที่ยังดำรงอยู่ในใจ คนที่อยู่ในเหตุการณ์ปี 53 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็คงระลึกถึง และเล่าขานเรื่องราวนี้ต่อไป แต่คนรุ่นหลังก็สามารถเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น สืบค้นได้ถ้าเขามีความสนใจ จึงไม่น่าจะมีการลืมเลือนไป

สำหรับปัญหาที่ทำให้ไม่มีความคืบหน้าในการเอาตัวคนผิดมาลงโทษหรือกระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้ เพราะอำนาจยังไม่เปลี่ยน ยังอยู่ในกลุ่มคนกลุ่มเดิมๆ ก็ยังคงถูกกดอยู่ เพราะเรื่องนี้สำคัญมากเป็นปมที่หากมีการดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธสงครามในเมือง เป็นการกระทำต่อบุคคลที่บริสุทธิ์

สิ่งเหล่านี้ชัดเจนมากหรือแม้แต่การยิงบนรางบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนาราม หากสิ่งเหล่านี้มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ผู้มีอำนาจในเวลานั้นก็ไม่รู้ว่าจะแก้ตัวอย่างไร

อีกทั้ง ตอนนี้เราอยู่ในรัฐบาลที่เรียกว่าเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือเครือข่ายอำนาจนิยม ก็ยังมีอำนาจบริหารประเทศอยู่ โดยสรุปเหตุที่ไม่คืบหน้าจึงมีหลายปัจจัย ดังนั้น ประชาชนก็ต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ให้ลืมกันไป

สิ่งสำคัญคือเราต้องเปลี่ยนรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยให้ได้ เพื่อที่จะเอาเรื่องเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

การที่จะคาดหวังว่าจะมีการรื้อฟื้นดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมในช่วงเวลานี้ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ทำได้มากที่สุด และดีที่สุด คือการระลึกถึง พูดถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ อธิบายหรือให้แง่มุมใหม่ๆ ที่คนอาจจะไม่เคยได้ยินหรือคิดไม่ถึง เพราะว่าเวลาผ่านไปอาจจะเห็นอะไรได้มากขึ้นกว่าช่วงแรกๆที่เกิดเหตุการณ์ ช่วงนั้นยังชุลมุน

ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาของการสื่อสาร และการศึกษา ซึ่งบทเรียนของเรื่องนี้คือการรักษาอำนาจแม้ว่าจะแลกมาด้วยชีวิตของประชาชน แต่ผู้มีอำนาจก็ไม่ยอมที่จะสละอำนาจ

ตอนนั้นข้อเสนอแค่การยุบสภา แต่รัฐบาลในขณะนั้นเลือกการใช้กำลังแทนการยุบสภา สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีอำนาจ และอำนาจ เป็นเหมือนยาพิษประเภทหนึ่ง คนที่ ไม่น่าเชื่อว่าจะมือเปื้อนเลือดก็ยังไปถึงจุดนั้นได้

หากถามถึงความหวังว่าสุดท้ายคนทำผิดจะถูกลงโทษ ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นความหวังอันเลื่อนลอย เป็นความหวังอันริบหรี่ว่าจะได้เห็นวันนั้น แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะดีใจมาก

ไม่ใช่แค่รู้สึกดีว่าคดีนี้ได้รับความยุติธรรม แต่ย่อมหมายถึงว่าสังคมได้เปลี่ยน ผ่านแล้ว

 

อังคณา นีละไพจิตร

อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

การเปิดเผยความจริงถือเป็นการเยียวยาเหยื่อ ทุกเหตุการณ์มีการเยียวยาในตัวของมัน แต่ต้องมีการเยียวยาทางกระบวนการยุติธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าให้เงินแล้วเรื่องจะจบลง แต่การหาความจริง และนำคนผิดมาลงโทษจะเป็นการทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกได้

เหตุการณ์พ.ค.53 ครบ 10 ปีถือเป็นครึ่งทางของเรื่องคดีแล้ว อีก 10 ปีก็จะหมดอายุความ อาจจะเหมือนกับหลายๆ เหตุการณ์ และมีการตายเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นว่ากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทยแทบจะไม่สามารถเปิดเผยความจริงแล้วนำคนผิดมาลงโทษได้

ถ้าลองโฟกัสในกรณีน.ส.กมนเกด อัคฮาด หรือน้องเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ จะเห็นว่าการไต่สวนการตาย ศาลได้มีคำสั่งว่าวิถีกระสุนนั้นมาจากทางฝั่งทหาร เรื่องนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องดำเนินการฟ้องร้องคดี แต่เรื่องยังไม่ได้ คืบหน้า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญจะมาบอกให้ผู้เสียหายให้อภัยหรือสมานฉันท์กันได้แล้วนั้น เป็นคนละเรื่องกันแล้ว

ขณะที่คณะก้าวหน้าออกมาถามตอบหาความจริงจากเรื่องนี้ถือเป็นการแสดงออกอีกอย่างหนึ่ง และเป็นเรื่องอารยะขัดขืน ซึ่งลักษณะนี้สังคมเราก็เกิดขึ้นบ่อย

การแสดงออกอย่างสันตินั้นควรจะได้รับความเคารพ เพราะการฉายเลเซอร์ตามหาความจริงไม่ได้เป็นการให้ร้ายหรือกล่าวโทษใคร มองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเรียกร้องความจริงอย่างสันติ และจริงแล้วสังคมมีสิทธิที่จะทราบความจริงกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ มนุษยชนที่เกิดขึ้น

การจะทราบความจริงนั้นมีหลายรูปแบบ เช่น ระบบศาลให้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลและให้ทุกฝ่ายได้นำข้อเท็จจริงมาเปิดเผยในศาล กรณีนี้ไม่น่าเชื่อเลยว่าผ่านมา 10 ปีแล้ว เรื่องยังไปไม่ถึงไหนเลย

ด้านองค์กรสิทธิมนุษยชนสามารถออกมาปกป้องผู้เสียหาย ต้องเข้าใจด้วยว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 กสม.สมารถฟ้องร้องใครแทนประชาชนได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ตัดอำนาจส่วนนี้ไป แต่กสม.สามารถช่วยในการสนับสนุนผู้เสียหาย เช่น เมื่อ ผู้เสียหาถูกคุกคามก็ให้มาร้องกับกสม.เพื่อให้มีการคุ้มครองพยาน หรือผู้เสียหายให้ กสม.ไปเป็นพยานให้ได้ด้วย แม้กสม.จะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์แต่จะให้ข้อมูลในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ

ถือว่าการสร้างความสมานฉันท์ หรือความปรองดองคือการลืม ให้ลืมไปเลยอย่าไปพูดถึงมันอีก

โอกาสที่ความจริงจะเปิดเผยในเรื่องนี้ เชื่อว่าในส่วนของครอบครัวเหยื่อนั้นยังมีความหวัง ล่าสุดแม่ของน้องเกดได้ไปเร่งเรื่องกับดีเอสไอ ซึ่งดีเอสไอควรสืบสวนสอบสวนดำเนินการแล้วส่งเรื่องขึ้นศาล เมื่อเรื่องไปยังศาลแล้วผู้เสียหายก็สามารถตั้งทนายเข้าไปเป็นโจทย์ร่วมในคดีได้ด้วย ซึ่งการส่งฟ้องในศาลจะเป็นอีกส่วนหนึ่งของการเปิดเผยความจริง เพราะจะได้รู้ว่าในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สุดท้ายการจะนำคนผิดมาลงโทษ พยานหลักฐานจะมีมากน้อยเพียงใดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยญาติจะได้รับรู้ความจริงในเรื่องนี้ ถือเป็นการเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะด้วย

เรื่องนี้จะจบอย่างไรนั้นอยู่ที่ความใจกว้าง จริงใจของรัฐ และการเห็นความสำคัญของการให้ความยุติธรรมกับทุกคน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของรัฐด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการในการสืบสวนสอบสวนก่อนที่จะหมดอายุความ

ถ้าจะปล่อยให้เรื่องหมดอายุความก็อาจจะเป็นรอยร้าวของประชาชนได้

 

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เหตุการณ์ 99 ศพ พฤษภา 53 ผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่วันนี้ความจริงยังไม่ปรากฏ สะท้อนสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ ความยุติธรรมที่ล่าช้า ความจริงมาคู่กับความยุติธรรม ในเมื่อความจริงไม่ปรากฏการตัดสินคดีก็เป็นไปไม่ได้

เราอย่าเพิ่งเรียกมันว่าความจริง ควรเรียกว่า ‘การค้นหาความจริง’ น่าจะถูกต้องกว่า

จนเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้า ออกมาทวงถาม-ตามหาความจริง หวังจุดกระแสกระตุ้นเรื่องราวเหตุการณ์ดังกล่าวได้อีกครั้ง แต่ผมคิดว่ายาก เพราะความจริงไม่ได้ถูกปกปิดอยู่เฉยๆ โดยธรรมชาติเพื่อที่จะรอการค้นพบ แต่กำลังถูกปกปิดโดยโครงสร้างอำนาจขนาดใหญ่และสถาบันจำนวนมาก ซ้ำยังถูกทำให้ล่าช้า

สิ่งที่คณะก้าวหน้ากำลังทำ เกิดเป็นกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาจจะยังไม่ได้ผลในตอนนี้ แต่จะเกิดผลในระยะยาวและเป็นตัวพิสูจน์ให้เห็นว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย หมายความว่าถ้าความจริงชุดนี้ถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ มันจะถูกส่งต่อจนเป็นอีกหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีวันตาย

ประเด็นปัญหาใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ กรณีของชุดความคิดบางฝ่ายที่เชื่อเหลือเกินว่าความจริงจะนำไปสู่การแตกแยก สิ่งนี้เป็นปัญหาใหญ่มาตั้งแต่ต้น คุณมัวแต่สนใจว่าจะปิดความจริงเอาไว้เพราะกลัวความแตกแยก

นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้สนใจความจริง แค่ต้องการมีชีวิตอยู่ภายใต้การปกปิดความจริง ยกเอาความแตกแยกซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติมาใช้เป็นข้ออ้าง ทั้งที่บริบทความแตกแยกจริงๆ แล้วไม่เคยทำให้สังคมล่มสลายไปทุกเรื่อง

การทำความจริงให้ปรากฏ คือจุดเริ่มต้นของการสร้างความสมานฉันท์ หรือตกลงว่าเราจะอยู่ในสังคมที่มีความสมานฉันท์โดยที่ไม่ต้องการความจริง ถ้าอย่างนั้น เป็นความสมานฉันท์ของฝ่ายไหน หากเราตั้งหลักด้วยความสมานฉันท์จอมปลอมแบบนี้

หากถามถึงโอกาสที่ความจริงจะปรากฏว่าจะมีสักกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคมและการผลักดัน

ผมไม่ได้บอกว่ากลุ่มคนเสื้อแดงผิดหรือถูกทุกเรื่อง แต่คำถามคือคนที่ถูกฆ่าตายคือคนที่ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ คุณจะตอบเรื่องนี้อย่างไร คุณไม่ตอบและใช้วิธีกดขี่ผู้คนแบบนี้ ผมบอกเลยว่าเวลามันระเบิด จะหนักกว่าเดิม

ปลายทางของเรื่องนี้ ผมไม่ได้อยู่ในวิธีคิดว่าจะมีการจบ เพราะทุกอย่างคือการต่อสู้ซึ่งจะดำเนินไปตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นการต่อรองทั้งถูก-ผิด แต่ปัญหาในสังคมไทยคือคำว่าถูก ไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติ แต่ถูกจัดการโดยคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเหนือกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเราก็เห็นอยู่

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลา 19 ว่าใช้เวลากี่ปี ปลายทางสุดท้ายไม่ได้จบด้วยการชนะที่ศาล แต่คือชัยชนะในจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม

ความจริงถูกเปิดมาจนถึงวันนี้ กระจัดกระจายไปตามพื้นที่สาธารณะ ในจิตวิญญาณของคนรุ่นใหม่ และในความจริงของหลายสื่อ ที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่อกระแสหลักอีกต่อไป นี่คือเป้าหมายปลายทางต่อชัยชนะ

ปัญหาใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 53 คือคนที่เป็นปัญญาชนหรือนักวิชาการไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่าชาวบ้านที่เดือดร้อน

ฉะนั้นการต่อสู้ของพฤษภา 53 อาจต้องใช้เวลายาวนาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน