FootNote ‘เปิดห้าง’แต่ไม่‘เปิดโรงเรียน’ เปิดโปงสถานการณ์‘ฉุกเฉิน’

ภาพของการคลายล็อกให้ “เปิดห้าง” ไม่ว่าที่เซ็นทรัล ไม่ว่าที่พารากอน ได้นำไปสู่การเปรียบเทียบกับการยังไม่ยอม”เปิดโรงเรียน”ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ

ไม่เพียงแต่ชาวบ้านจะเห็นได้ผ่านสื่อใหม่ สื่อเก่า หากตัวของ ชาวบ้านเองก็สามารถสัมผัสได้โดยตน

ความย่อหย่อนของ”มาตรการ”เช่นนี้เป็น”อันตราย”

ยิ่งมีข่าวว่าจะผ่อนคลายให้มีการเปิด”สนามมวย”ขึ้นในห้วงเวลาก่อนการ”เปิดเรียน” ยิ่งทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบอันอ่อนไหวขึ้นมาอย่างมิอาจสกัดขัดขวางได้

เพราะกระบวนการของสนามมวย”ลุมพินี”นั้นเองคือจุดแพร่ กระจายของไวรัสโควิด-19 อย่างอึกทึกครึกโครมยิ่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ผลก็คือนำไปสู่ข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วการยืดเวลาประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”นั้นเป็นเหตุผลด้าน “สุขภาพ”

หรือเป็นเหตุผลด้าน “การเมือง”

ตัวอย่างสดๆร้อนๆคือตัวอย่างจากการส่งกำลังเข้าสกัดขัดขวาง และพยายามควบคุมการเคลื่อนไหวของ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนในวาระ 6 ปีของรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ไม่ว่าจะมองจากบรรทัดฐาน”ระยะห่าง”อันเป็นมาตรการใน เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัส

ไม่ว่าจะมองจากจำนวนของบุคคลที่ออกมาถือ”ป้ายผ้า”หรือ เคลื่อนไหวบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณหน้าหอศิลป์ กทม.

จำนวนไม่เกิน 5 คนตามข้อห้ามของพรก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

แต่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบก็เข้าไปสกัดขัดขวาง

ปฏิบัติการของตำรวจจึงไม่เกี่ยวอะไรกับข้อห้ามในด้านสุขภาพหากแต่เป็นความต้องการในทางการเมืองมากกว่า

ภาพเหล่านี้เด่นชัด ณ เบื้องหน้าของประชาชน

ความรู้สึกไม่เห็นชอบด้วยกับการยืดเวลาและต่ออายุการประกาศ และบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”จึงได้กลายเป็นโรคระบาดอย่างใหม่

ทุกมาตรการ”เข้ม”ของรัฐบาลจึงเปิดโปงเจตนาอันแท้จริงของรัฐบาลออกมา

เป้าหมายมิได้อยู่ที่ “สุขภาพ” หากแต่อยู่ที่ “การเมือง”

กระบวนการแต่ละกระบวนการของ “รัฐบาล” นั่นแหละที่เปิด เปลือยเป้าหมายของ”รัฐบาล”ออกมา

ณ เบื้องหน้า สายตาของ “ประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน