คอลัมน์ บทบรรณาธิการ : การศึกษาหลังโรคระบาด

การศึกษาหลังโรคระบาด – ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่อนคลายให้โรงเรียนและสถานศึกษาเกือบทุกแห่ง เปิดการเรียนการสอนได้เป็นวันแรก
กรมอนามัยระบุว่า จากการตรวจประเมินความพร้อมของสถานศึกษาทั้ง 44 ข้อ แบ่งเป็นมาตรการหลัก 20 ข้อ มาตรการเสริม 24 ข้อ ของโรงเรียนทั่วประเทศจำนวน 38,450 โรง ผ่านการประเมินทั้งสิ้น 33,597 โรง
เป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) การศึกษานอกโรงเรียน และโรงเรียนพระปริยัติธรรม
ที่เหลืออีก 4,853 แห่งยังเปิดไม่ได้ และได้ส่งทีมแก้ไขไปช่วยเหลือแล้ว

 

ต้องยอมรับว่าปีการศึกษา 2563 มีปัญหาและอุปสรรค นำมาซึ่งความยุ่งยากหลายประการ นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี สถานศึกษาหลายแห่งต้องรีบวัดผลและปิดการเรียนการสอน เพื่อป้องกันการแพร่ของเชื้อโรค
การรับสมัครนักเรียนระดับชั้นต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย จากเดิมที่เปิดภาคเรียนช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบถึงมหาวิทยาลัยที่รับนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในปีการศึกษานี้ด้วย
ไม่นับผลกระทบต่อการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องจัดทางออนไลน์แทน

 

หลังจากเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ ในช่วงต้นเดือนนี้ และมหาวิทยาลัยจะเปิดในเดือนลำดับถัดไป ก็คงจะใช้รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “นิว นอร์มัล” หลังการระบาดของโรค
มีการเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ลดความแออัด การสลับแยกกันเข้าชั้นเรียน ผสมกับการเรียนการสอนระบบออนไลน์ รวมถึงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในกิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องทำร่วมกัน
กระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการให้คำแนะนำและดำเนินการในอันที่จะป้องกันการระบาดถ้าหากเกิดขึ้นอีกครั้ง สถานศึกษากับสมาคมผู้ปกครองจะต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยควบคุมโรคเช่นกัน
เป็นการจัดการศึกษาแบบใหม่ที่บูรณาการจากทุกภาคส่วนเพื่อก้าวฝ่าข้ามภัย โรคระบาด

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน