FootNote:ท่าที รัฐบาลต่อรัฐธรรมนูญ จริงใจ หรือเสแสร้งหลอกลวง

การเชิญ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เข้าพบและหารือกันอย่างเป็นการจำเพาะ ณ ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความละเอียดอ่อน

เนื่องจากเป็นการเชิญในสถานการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องใน 2 ประเด็นสำคัญทางการเมือง

1 ให้เร่งรัดในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 1 จากนั้นจึงยุบสภา

ประเด็นอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขสำคัญอันมาจาก พรรคประชาธิปัตย์ก่อนตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลและขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน 2562

จากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้รับการบรรจุให้เป็นนโยบายซึ่ง “เร่งด่วน”ของรัฐบาล

จากนั้น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา วิธีการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยคนของรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลมีบทบาทอย่างสำคัญ

คำถามก็คือเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องเชิญหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้าหารือ

คำตอบมิได้อยู่ที่ว่าหัวหน้าพรรคทั้ง 2 มีความคิดเป็นอย่างไรต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงประการเดียว หากแต่อยู่ที่นายกรัฐมนตรีและพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีเอกภาพ

เป็นเอกภาพว่าหากรัฐบาลเป็น”เจ้าภาพ”ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องดำเนินจังหวะก้าวอย่างไรในทางการเมือง

กระนั้น ปัจจัยหนึ่งซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ มิอาจปัดปฏิเสธได้อย่างเด็ดขาด ก็คือท่าทีของรัฐบาลเช่นนี้มิใช่อยู่ๆก็บังเกิดขึ้น

ตรงกันข้าม ก่อนหน้านี้กระบวนการของคณะกรรมาธิการดำเนินไปในแบบเรื่อยๆมาเรียงๆ นกบินเฉียงไปทั้งหมู่ ประสานเข้ากับบทเพลงถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง

แต่แล้วก็เกิดปรากฎการณ์”เยาวชนปลดแอก”ขึ้นอย่างคึกคัก

เป็นความคึกคักไม่เพียงแต่จุดเดียว หากแต่เป็นความคึกคักในขอบเขตทั่วประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องปรับท่าทีใหม่

ท่าทีใหม่ในที่นี้เมื่อมาจากการตกลงร่วมระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จึงเป็นท่าทีในลักษณะ”ร่วม” จึงเป็นความรับผิดชอบ”ร่วม”ในทางการเมือง

นี่คือท่าทีที่สังคมจะต้องจับตามองและติดตามว่าเป็นท่าทีที่มีความจริงใจ หรือว่าเสแสร้งหลอกลวงในแบบไก่กา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน