FootNote:อำนาจรัฐ ผิดพลาด คลาดเคลื่อน กรณีจับกุมตั้งแต่ อานนท์ นำภา

คำสั่งจับกุม 1 ในสมาชิกนักร้อง RAD เจ้าของบทเพลง “ประเทศกูมี” อันลือลั่น ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ละเอียดอ่อนและอ่อนไหวยิ่งในทางความคิด และในทางการเมือง

เพียงเพราะว่านักร้องจาก RAD ผู้นั้นได้ขึ้นร้องเพลงบนเวทีปราศรัย

ก็ถูกมองจากอำนาจรัฐว่าเป็น “แกนนำ”

เช่นเดียวกับการปรากฎตัวบนเวทีของ นายบารมี ชัยรัตน์ ในคืนวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน

ก็ถูกมองจากอำนาจรัฐว่าเป็น “แกนนำ”

จึงจำเป็นต้องแยก “ปลา” ออกจาก “น้ำ” แยก “แกนนำ”ออกจาก “มวลชน” ทั้งๆที่ในความเป็นจริง นักร้องเพลงแร็พ และ นายบารมี ชัยรัตน์ เป็น”แกนนำ”จริงหรือไม่

ยังเป็นความน่าสงสัยในเชิงเทคนิกและความเป็นจริง

ความเป็นจริงที่มีการร้องเพลง”ประเทศกูมี” ความเป็นจริงที่ นายบารมี ชัยรัตน์ ปรากฏตัว

เป็นความจริงที่ นายบารมี ชัยรัตน์ เป็นเลขาธิการสมัชชาคนจนและ เคยมีบทบาทหนุนช่วยการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษาตั้งแต่ยุคของ นายรังสิมันต์ โรม แห่ง”กลุ่มอยากเลือกตั้ง”

เป็นความจริงที่นักร้องเพลงแร็พแห่ง”ประเทศกูมี”ได้เข้าร่วมในการร้องเพลงบนเวทีที่ชุมนุม

แต่ทั้งสองคนก็มิได้เป็น”แกนนำ”ในความหมายอันเคร่งครัด

นักร้องเพลงแร็พเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเกือบจะทุกเวทีของนักเรียน นิสิตนักศึกษา แต่เสมอเป็นเพียงแขกรับ เชิญมิได้เป็นคนรับผิดชอบ

ยิ่งกรณีของ นายบารมี ชัยรัตน์ เขาขึ้นไปอยู่บนเวทีในห้วงแห่งภาวะสับสนของน้องๆ”เยาวชนปลดแอก”ที่ไม่รู้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในสถานการณ์ที่มีคนหลั่งไหลเข้าร่วมจำนวนมาก

ในฐานะ”ผู้อาวุโส”ซึ่งมีประสบการณ์มากับ”สมัชชาคนจน”จึงเสมอเป็นเพียงการปราศรัยเพื่อคั่นเวลาเท่านั้นเอง

อย่าว่าแต่นักร้องเพลงแร็พ อย่าว่าแต่ นายบารมี ชัยรัตน์ เลย แม้กระทั่ง นายอานนท์ นำภา ก็เสมอเป็นเพียงผู้ปราศรัยรับเชิญและเป็นทนายให้หากต้องขึ้นโรงขึ้นศาล

มิได้ดำรงอยู่ในฐานะเป็น”แกนนำ”ในการบริหารจัดการ

อย่าได้แปลกใจที่เมื่อมีการจับ นายอานนท์ นำภา การชุมนุมก็ยังดำเนินต่อไปและด้วยปริมาณที่มากมายมหาศาลยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน