FootNote : ปฏิกริยาร้อน จาก นักเรียนเลว กับท่าทีของ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ

นับแต่การปรากฏตัว ณ ที่ชุมนุมของ “กลุ่มนักเรียนเลว” บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการในตอนบ่ายของวันพุธที่ 19 สิงหาคม

สถานะทางการเมืองของ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ ก็อยู่ในแสงสปอตไลต์

แม้กล่าวในทางส่วนตัว นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ จะมากด้วยความสุขุมและเยือกเย็น

ปฏิบัติตามคำของ “กลุ่มนักเรียนเลว” อย่างเงียบสงบ ไม่ว่าจะให้ไป “ต่อแถว” ไม่ว่าในระหว่างสนทนาอยู่กับ “กลุ่มนักเรียนเลว” ไม่ว่าจะเมื่อเดินเข้าไปในกระทรวงและให้สัมภาษณ์

ถือได้ไม่มีอะไร “หลุด” เรียกได้ว่าควบคุม “อารมณ์”ของตนได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ในฐานะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะที่ถือกันว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บังคับบัญชาเหนือโรงเรียน เหนือครู เหนือ นักเรียนในความรับผิดชอบ

ฐานะนี้ทำให้ต้องตกอยู่ในระหว่าง “เขาควาย”แห่งความขัดแย้ง

เพราะกรณีของ นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ คือตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ของการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ฝ่าย 2 กลุ่มความคิด

กลุ่มนักเรียนเลว

ต้องยอมรับว่าการปะทะและขัดแย้งในทางความคิดภายในแต่ละโรงเรียนทั่วราชอาณาจักรไทยมากด้วยความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวยิ่งในทางความคิด

มิได้เป็นเรื่องของ “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ” อย่างที่ชอบพูดกันติดปาก

หากแต่เป็นเรื่องในทาง “วัฒนธรรม”อันดำรงอยู่อย่างลึกซึ้ง

ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นภายในโรงเรียนคือเงาสะท้อนความเห็นต่างระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมและความเชื่ออย่างใหม่ อันมากับเทคโนโลยีอย่างใหม่

ไม่ว่าในรายวิชาหน้าที่พลเมือง รายวิชาประวัติศาสตร์ รายวิชา วรรณคดี รายวิชาสุขศึกษา หากสำรวจตรวจสอบจะเห็นว่าเกิดขึ้นและดำรงอยู่ครบถ้วน

เรื่องแบบนี้การใช้ “อำนาจ”บังคับไม่เกิดประโยชน์ มีแต่จะทำให้ขยายกรอบ ขอบเขตออกไปอย่างไม่สิ้นสุด

 

ตัวอย่างง่ายๆก็คือ แม้กระทรวงศึกษาธิการจะมีคำสั่งให้เปิดพื้นที่ให้กับนักเรียนได้อย่างเต็มที่ ถามว่าได้มีการปฏิบัติตามอย่างเป็นเอกภาพหรือไม่

ตอบได้เลยว่าคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการไม่มีประโยชน์

ตรงนี้แหละคือปัญหา คือสิ่งที่ไม่เพียงแต่รัฐมนตรีเท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ หากแม้กระทั่งรัฐบาลก็มิอาจเพิกเฉยเย็นชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน