ชูศักดิ์ ศิรินิล เตือนสว.-วิกฤตรัฐธรรมนูญ : รายงานพิเศษ

ชูศักดิ์ ศิรินิล เตือนสว.-วิกฤตรัฐธรรมนูญ – สภาได้ตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 มาได้ 8 เดือนแล้ว

การดำเนินการมีความคืบหน้า หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคและประธานที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงความเห็นไว้ดังนี้

● ความคืบหน้าการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของกมธ. ล่าช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

หากพิจารณาตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เดิมให้กมธ.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน จะเห็นได้ว่าเวลาผ่านมาถึง 240 วันแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าเนื่องจากในช่วงตั้งแต่ ก.พ.เป็นต้นมา เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การประชุมคณะกรรมาธิการฯ ขาดตอนไป จึงต้องมีการขยายเวลาดำเนินการออกไป

แต่ขณะนี้ได้ผลสรุปที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเห็นควรให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และยังมีข้อเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส.ส.ร. รวมทั้งให้มีการแก้รายประเด็นอื่นๆ จึงถือว่าการดำเนินการของคณะกรรมาธิการฯ ไม่ได้ล่าช้าไปกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้

● ในมุมฝ่ายค้านคิดว่าการแก้ไขคืบหน้าถึงจุดไหน

ข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เห็นร่วมกันมาแต่แรกว่าต้องมีการแก้ไข และได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านเวทีเสวนาต่างๆ มาตลอด ณ เวลานี้ถือว่าเดินมาถึงจุดที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันแล้วว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นด้วยการเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาก็ตาม แต่การที่สังคมตกผลึกทางความคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่การประเมินความคืบหน้าเป็นเปอร์เซ็นต์คงยังพูดไม่ได้

และเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องอาศัยองค์ประกอบในส่วนของส.ว.ด้วย ฟังจากการให้สัมภาษณ์ของแกนหลัก ดูจะมุ่งเน้นไปในทางไม่เห็นด้วยที่จะให้มีส.ส.ร. ห้ามแก้เรื่องส.ว.ตามบทเฉพาะกาล เรื่องนี้คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าเมื่อครั้งรณรงค์เลือกตั้งเกือบทุกพรรคต่างชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญกันทั้งนั้น รัฐบาลเองยังเอาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญบรรจุไว้เป็นนโยบายด้วย กระแสสังคมจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องนี้

●แน่นอนต้องเริ่มแก้ที่มาตรา 256 แต่เสียงจากส.ว.ชัดเจนไม่เอาด้วย ต้องทำอย่างไรเพื่อนำไปสู่การแก้ไข

เท่าที่ทราบขณะนี้ประธานวุฒิสภาได้ออกมาให้ความเห็นว่าไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และให้มีส.ส.ร. แม้จะพูดในนามส่วนตัวแต่ก็เหมือนส่งสัญญาณไปยังส.ว.ท่านอื่นด้วย

หากพูดถึงตรรกะแล้วการแก้ไขมาตรา 256 ก็เป็นเหตุผลที่ต้องทำ เนื่องจากหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทำได้ยาก หรืออาจไม่สามารถทำได้เลย เหมือนกับเขียนรัฐธรรมนูญไว้เพื่อไม่ให้แก้ไข ซึ่งผิดหลักการทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ดี ที่ต้องให้มีลักษณะพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปได้ตามสถานการณ์ของประเทศและของโลก ไม่ใช่หยุดนิ่ง

การที่ ส.ว.ออกมาตั้งแท่นที่จะไม่แก้มาตรา 256 ก็เหมือนกับการสร้างกำแพงกั้นเพื่อไม่ให้เดินไปถึงจุดหมาย ทั้งที่สังคมส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่าควรเริ่มต้นที่การแก้ไขมาตรา 256 พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคก็แสดงออกชัดเจนเรื่องดังกล่าว

กรณีเช่นนี้ต้องให้กระแสสังคมช่วยเรียกร้องไปยังส.ว.อย่าขวางการแก้ไขมาตรา 256 เพราะเป็นการทำเพื่อมิให้เกิดวิกฤตของชาติ และวิกฤตรัฐธรรมนูญในอนาคต และเป็นบันไดไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ได้ง่าย

● ไทม์ไลน์การแก้ไขที่เหมาะสมและเป็นไปได้

ต้องดูว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใด เพราะตามมาตรา 256 (8) กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าถ้าแก้หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาล องค์กรอิสระ ก่อนดำเนินการต้องให้มีการทำประชามติก่อน

ดังนั้นถ้าจะให้แก้มาตรา 256 ก็ต้องจัดทำประชามติก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อมองในภาพรวมอาจต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ก็อาจดำเนินการได้เร็วกว่านี้

● นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุจะไปชะงักตอนทำประชามติ เพราะกฎหมายประชามติไม่มีรองรับ

ก็ต้องถามว่าท่านเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะนอกจากจะยกข้ออ้างเรื่องกฎหมายประชามติแล้ว ยังยกข้ออ้างเรื่องงบประมาณ การแก้รัฐธรรมนูญต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และกระแสเรียกร้องของประชาชน

การอ้างเรื่องงบประมาณนั้นขอให้ท่านไปดูว่ารัฐบาลได้ใช้งบประมาณแต่ละเรื่อง ที่ประชาชนมองว่าไม่จำเป็นไปกี่พัน กี่หมื่นล้าน แต่การที่จะใช้งบประมาณเพื่อทำในเรื่องสำคัญ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำไมจึงมองว่าไม่คุ้มค่า การใช้งบประมาณเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี รัฐธรรมนูญของประชาชน เสียเงินเท่าไรก็ต้องยอม

ส่วนเรื่องกฎหมายประชามตินั้น จะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ทำประชามติตามกฎหมายว่าด้วยประชามติ ดังนั้น หากตีความว่าต้องมีกฎหมายมารองรับประชามติ เรื่องนี้ก็ทำไม่ยาก

นอกจากนั้น เคยมีพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ใช้บังคับ สภาสามารถเสนอร่างพ.ร.บ.ให้นำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับได้ โดยส่วนใดที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ยกเลิกไป เช่น ส่วนที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจทำให้แล้วเสร็จในเวลาไม่นานหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง

● คิดว่าที่สุดแล้วจะแก้ได้สำเร็จหรือไม่

คงไม่อาจพูดได้ว่าที่สุดแล้วจะแก้ได้หรือไม่ เพราะหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้เข้มงวด โดยเฉพาะการต้องได้เสียง ส.ว.มาสนับสนุนนั้นดูเป็นเรื่องยาก กระแสหรือพลังของสังคมเป็นปัจจัยสำคัญ

นอกจากนี้รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการทำประชามติไม่น่าห่วง เพราะคิดว่าคนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการแก้ไข

นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาว่าจะแก้ไขส่วนไหน อย่างไร เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้านหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 เป็นประตูเปิดไปสู่การแก้ไขมาตราอื่นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำเป็นลำดับแรก

● การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาขณะนี้จะมีผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด

คิดว่ามีผลมาก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา สังคมตอบรับการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัด สื่อมวลชนให้ความสนใจ แม้แต่รัฐบาลก็ยังต้องฟัง จึงทำให้เห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษานั้นมีพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ความสำเร็จได้

เราไม่เห็นภาพการแสดงพลังของนักเรียน นักศึกษา ในลักษณะนี้มานานแล้ว จึงถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของสังคมที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับรู้ รับทราบถึงปัญหาของบ้านเมือง รวมถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ และออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จนถึงขั้นทำให้นายกฯ เปลี่ยนท่าทีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

● หากไม่แก้คิดว่าสถานการณ์จะบานปลายหรือไม่

เมื่อสังคมเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีปัญหาในแง่ความชอบธรรมในเรื่องที่มา และปัญหาในส่วนของเนื้อหา และหลายฝ่ายแสดงพลังออกมาเรียกร้องเช่นนี้แล้ว หากไม่มีการแก้ไขคงจะไม่ได้แล้ว ปัญหาก็มีอยู่ว่าการแก้ไขนั้นจะทำเหมือนอดเสียมิได้เท่านั้น หรือจะแก้ไขเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน

หากแก้ไขแล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่สังคมต้องการ ก็คงไม่ต่างกับการไม่แก้ไข ดังนั้น เมื่อปัญหาเดินมาถึงจุดนี้แล้วจึงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลและส.ว. จะไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไข

เพราะตราบใดที่ข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ได้รับการปฏิบัติ การเคลื่อนไหวเรียกร้องถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะดำเนินการ ซึ่งอาจบานปลายจนเกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นได้ จึงหวังว่าทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจและร่วมมือกันที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้สำเร็จ และเป็นไปตามเจตนาและความต้องการของประชาชน

● ยังยืนยันที่จะให้แก้มาตรา 256 ให้มีส.ส.ร.มายกร่างทั้งฉบับ

การแก้มาตรา 256 จำเป็นต้องทำ ส่วนเหตุผลที่อยากให้มีส.ส.ร.เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดอ่อนเต็มไปหมด ตั้งแต่ระบบเลือกตั้ง ที่มาของส.ว. ที่มาของนายกฯ การปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ไปจนถึงมาตราสุดท้ายที่ไปรับรองการกระทำของคสช.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายตลอดกาล จนทำให้ตรวจสอบไม่ได้เลย

แต่ละเรื่องโยงใยเกี่ยวพันกัน จึงควรแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และการมีส.ส.ร.คือมีตัวแทนประชาชนมายกร่าง รัฐธรรมนูญจึงมีที่มาจากประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน