FootNote:บทเรียน เรือดำน้ำ รัฐธรรมนูญ บทเรียน เรื่องเตะถ่วง ซื้อเวลา

ท่าทีและการคลี่คลายปัญหาในกรณีโครงการซื้อเรือดำน้ำของรัฐบาล น่าจะสะท้อนให้เห็นเป็นบทเรียน 2 ประเด็นที่สำคัญ

1 ผลสะเทือนจากอารมณ์ในทางสังคมที่ปรากฏเป็น”กระแส”คัดค้านและต่อต้าน

กระทั่งกลายเป็น #ไม่เอาเรือดำน้ำ

1 ท่าทีและการคลี่คลายผ่านกระบวนการ”เลื่อน”การพิจารณาออกไป ไม่ผลีผลามประชุมและลงมติ

เป็นท่าทีเตะถ่วงและ”ซื้อเวลา”ตามความสันทัดมายาวนาน

ต้องยอมรับว่า ท่าทีในแบบนี้ของรัฐบาลเป็นท่าทีที่สะสมความจัดเจนมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อชะลอและเลื่อนการเลือกตั้ง ออกไปเรื่อยๆ

จาก”ปฏิญญาโตเกียว”ที่ทำให้เชื่อว่าจะเลือกตั้งภายในปี 2558 ก็เลื่อนมาเรื่อยจนถึงเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ท่าทีแบบนี้น่าจะกำลังใช้ต่อกระบวนการของ”รัฐธรรมนูญ”

คล้ายกับในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการยื่นญัตติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นจากพรรค พลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคเพื่อไทย

คำถามก็คือ การเคลื่อนไหวนี้เป็นความตื่นตัวและสุกงอมของ พรรคการเมืองหรือไม่

คำตอบก็คือ อาจใช่แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีแรงกดดันอย่างสำคัญ

น่าสังเกตว่าเป็นความตื่นตัวหลังจากการเคลื่อนไหวของ”เยาวชนปลดแอก”เมื่อตอนค่ำของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บนถนนราชดำเนิน

ลำพังเพียงการเคลื่อนไหววันนั้นคงไม่มีผลสะเทือน แต่เนื่องจากที่ตามมาคือการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันในขอบเขตทั่วประเทศ

ไม่ว่าภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ หรือภาคกลาง

เพราะการเคลื่อนไหวในแบบ”เยาวชนปลดแอก”ต่างหากที่ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความเรียกร้องต้องการแก้”รัฐธรรมนูญ”

กระนั้น บทเรียนจากการเตะถ่วงเรื่อง”การเลือกตั้ง” บทเรียนจากการซื้อเวลาในเรื่องของ”เรือดำน้ำ” น่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวัง

เป็นความระมัดระวังว่าในที่สุดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินไปอย่างไร

จะรวดเร็วหรือเสมอเป็นเพียงการเตะถ่วงและซื้อเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน