FootNote:ปรากฏการณ์ กบฏประชาธิปัตย์ เงาสะท้อน ความขัดแย้ง แตกแยก

จังหวะก้าวของพรรคประชาธิปัตย์น่าศึกษา น่าติดตาม ไม่ว่าจะเป็นต่อกรณีเรือดำน้ำ ไม่ว่าจะเป็นต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การปิดสวิตช์ ส.ว.

หลายคนอาจมองว่าเป็นลีลาอาการอันสะท้อนความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ออกมาอย่างเด่นชัด

ไม่ว่ายุค นายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ว่ายุค ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค และต่อเนื่องมาแม้กระทั่งยุค นายจุ รินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ เป็นหัวหน้าพรรค

ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลัง ประชารัฐท่ามกลางความขัดแย้งภายในพรรค

ไม่เพียงแต่ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องยื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส.เพราะว่าเคยประกาศตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งแล้วว่าจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากแต่ภายในของพรรคประชาธิปัตย์ยังระส่ำระสาย

เป็นความระส่ำระสายอันเนื่องแต่การเลือกหัวหน้าพรรค เป็นความระส่ำระสายอันเนื่องแต่การเข้าร่วมกับรัฐบาล

หลังการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค หลังการเข้าร่วมรัฐบาล นพ.วรงค์ เดช กิจวิกรม ก็ออกจากพรรคและเข้าร่วมกับ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในพรรครวมพลังประชาชาติไทย

ต่อมา นายกรณ์ จาติกวณิช ก็ลาออกและไปจัดตั้งพรรคกล้าขึ้นมาเป็นของตนเอง

ต่อมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ลาออกและเข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้รับการปูนบำเหน็จรางวัลต่างๆตามมาหลายตำแหน่งทางการเมือง

ภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีเสียงเรียกร้องต้องการให้มีการ ปฏิรูปพรรคจากผลสะเทือนของการเลือกตั้งที่ไม่เพียงพ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทยหากพ่ายแพ้แก่พรรคพลังประชารัฐและพรรคอนาคตใหม่

สะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ภายในพรรคว่าดำเนินไปอย่างเข้มข้น

อย่าได้แปลกใจหากว่าสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งมิได้สุกงอมกับการเข้าไปร่วมรัฐบาลและอยู่ในร่มเงาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปรากฏการณ์”เรือดำน้ำ”จึงได้บังเกิดขึ้น

ปรากฏการณ์”ปิดสวิตช์ ส.ว.”และพร้อมร่วมมือกับพรรคฝ่ายค้านจึงได้บังเกิดขึ้น

อาจมองได้ว่าเป็นการหา”ช่องทาง”ในทางการเมือง

แต่ที่แน่นอนอย่างที่สุด ทั้งหมดนี้คือรูปธรรมแห่งสภาวะขาลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน