รายงานพิเศษ

พรก.ฉุกเฉินร้ายแรง:การชุมนุม – หลังจากรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. แต่ผู้ชุมนุมในชื่อ คณะราษฎร 2563 ยังคงชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แก้ไขรัฐธรรมนูญ เจ้าหน้าที่จึงใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สลายม็อบที่ถอยร่นมาถึงสี่แยกปทุมวัน ด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีสีฟ้าเข้าใส่

แม้ผู้ชุมนุมจะยอมสลายตัว แต่นัดผ่านโซเชี่ยลชุมนุมทุกวันตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ขณะที่ในต่างจังหวัดหลายแห่งก็ชุมนุมคู่ขนานไปด้วย

เหตุการณ์จะบานปลายหรือไม่ และกระทบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการ ดังนี้

 

สุเชาวน์ มีหนองหว้า

อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ

มรภ.อุบลราชธานี

การชุมนุมที่เกิดขึ้นคิดว่ามีเหตุผลคือ ในภาวะปัจจุบัน เห็นปัญหาที่มีการแก้ไขของรัฐบาล ทั้งเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ ล่าช้ามีการเตะถ่วงเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น จนมีการเรียกร้องทั้งจากประชาชน นักวิชาการ สมาชิกรัฐสภา ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยเร็ว และมีแรงกดดันหลายประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและรอวันที่จะปะทุออกมา

ส่วนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง คิดว่าเป็นเรื่องปกติของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายความมั่นคง ที่ต้องรักษาสถานการณ์ของตัวเองไว้ โดยการใช้กฎหมายที่เอื้อต่อการดำรงสถานภาพไว้ ประจวบกับมีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นกฎหมายธรรมดา รัฐบาลจึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งเราไม่ค่อยได้เห็นกัน

ในเมื่อปัญหาไม่มีการแก้ไข คิดว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงก็เป็นเงื่อนไข เพื่อต้องการตัดไฟแต่ต้นลม แต่คงไม่สามารถลดภาวะความรู้สึกที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลอยู่

คิดว่าสถานการณ์น่าจะบานปลายขยายออกไปสู่ต่างจังหวัดด้วย เป็นการชุมนุมแบบดาวกระจาย ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อ ภาพลักษณ์รัฐบาล ภาพลักษณ์ประเทศที่มีต่อต่างประเทศด้วย ที่เรากำลังรอการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจากโควิด-19

ดังนั้น ควรร่วมกันหาทางออกอย่างสันติ หาทางออกอย่างสมเหตุสมผล ไม่ควรใช้หลักนิติศาสตร์อย่างเดียว ควรใช้หลักรัฐศาสตร์เข้ามาช่วยด้วย

หากการชุมนุมไม่ยุติ ควรรีบนำประเด็นปัญหาเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา แม้ว่าจะรอให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญในเดือนพ.ย. แต่ช่วงที่รอเปิดประชุมสภา ควรใช้วิธีการทางรัฐศาสตร์ประสานกับแกนนำหรือผู้แทนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลปล่อยให้ปัญหาเรื้อรัง เช่น ฝ่ายค้าน ผู้นำการชุมนุม ร่วมหาทางออกอย่างสันติ เพื่อนำปัญหาเข้าไปสู่กระบวนการรัฐสภา

โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง และจัดเวทีคู่ขนานให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นภาคประชาสังคม แกนนำที่ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล คิดว่าเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาเย็นลงได้ และไม่นำไปสู่การบานปลายในอนาคต

ส่วนการสลายการชุมนุมเมื่อค่ำวันที่ 16 ต.ค. ถ้าภาครัฐหรือฝ่ายความมั่นคงยังใช้วิธีแบบแข็งกร้าว และใช้หลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช้มิติและวิธีการหาทางออกทางรัฐศาสตร์ มีแต่จะทำให้เหตุการณ์บานปลายร้าวลึก และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไปทั่วโลก เพราะการสื่อสารในโลกออนไลน์ในปัจจุบันเป็นไปอย่างรวดเร็วทั่วถึง

ขอเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคความมั่นคงได้ทบทวน หาทางออกร่วมกันอย่างสันติ ไม่ว่าจะเป็นใช้กระบวนการทางรัฐสภาหรือวิธีการแบบสันติประชาธรรม ในการสานเสวนา หาทางออกร่วมกัน ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามหาทางออกของประเทศร่วมกันโดยเร็ว

ยุทธพร อิสรชัย

คณบดีคณะรัฐศาสตร์

ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

การใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือความชอบธรรมทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่อาจตอบได้จากหลักของกฎหมาย แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกิดจากการยอมรับของประชาชนว่าการปฏิบัติต่างๆ หรือการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ จะต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมด้วย

อีกทั้งจะต้องเป็นไปตามหลักการของสากล มีการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องไม่เกิดในลักษณะสองมาตรฐาน ตรงนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายฉุกเฉินเหล่านี้จะต้องมีความสมดุลและใช้อย่างพอเหมาะพอสม ในช่วงที่มีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาและเห็นกันมาโดยตลอดคือการขยายเวลาการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในวันนี้เมื่อมีสถานการณ์การชุมนุมเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤตการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผู้ปฏิบัติและผู้มีอำนาจจะต้องทำในทุกๆ ด้าน จะใช้เพียงมิติทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำในมิติความชอบธรรมในเรื่องการแสดงออกด้วย

ส่วนเจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจเข้าไปสลายการชุมนุมเมื่อค่ำวันที่ 16 ต.ค. แม้จะมีการอ้างว่าได้ใช้วิธีตามหลักสากลแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง เป็นเรื่องการไปใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

การเข้าไปสลายการชุมนุมนั้นหลายคนตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามว่ามีเหตุที่ใช้การสลายการชุมนุมแล้วหรือยัง ในเมื่อผู้ชุมนุมได้มีการกำหนดที่ชัดเจน ว่าจะเลิกการชุมนุมในเวลาใด อีกทั้งการชุมนุมที่เกิดขึ้นยังไม่มีอะไรที่เป็นเหตุรุนแรงที่จะเข้าเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปสลายการชุมนุม

สถานการณ์จึงมีโอกาสที่จะเดินไปสู่จุดบานปลาย ยิ่งเมื่อทุกอย่างเข้าสู่ภาวะความกดดันโดยเฉพาะเรื่องการจับกุมแกนนำ ไม่มีการกำหนดทิศทาง หรือยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวที่ชัดเจน มีการใช้กำลังในการเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้จะนำไปสู่กระบวนการที่มีการรวมตัวมากขึ้น

เมื่อถึงจุดนั้นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันจะเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะเรื่องที่จะมีการพูดคุยกันได้ในอนาคต เพราะจะกลายเป็นเรื่องการสร้างเงื่อนปมทางการเมืองเพิ่มเติมขึ้นมาให้ทับซ้อนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ทุกคนคงต้องรอในส่วนที่เป็นบทบาทของส.ส.และส.ว. ที่จะต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้และจะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าจำเป็นต้องใช้กลไกของรัฐสภา เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ สู่กติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันและทุกอย่างจะเดินหน้าต่อไปได้

ถ้าเรายังปล่อยให้ภาวะทางการเมืองในลักษณะมวลชนเดินต่อไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า มวลชนาธิปไตย คือมวลชนต้องการเข้าสู่อำนาจเองโดยไม่ฟังเรื่องกฎหมาย เป็นเรื่องของมวลชนล้วนๆ เมื่อถึงจุดนั้น คงจะไม่มีกฎกติกาใดๆ เป็นการเมืองมวลชนที่ไม่มีอะไรกำกับกันได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรับหรือแกนนำต่างๆ ก็ตาม ซึ่งยอมรับว่าผมก็กังวลในเรื่องนี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ จะต้องมีการเปิดเวทีพูดคุยโดยภาคประชาสังคม และจะต้องมีทางออกในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นหลักใหญ่ใจความที่สำคัญที่สุด

 

ธเนศวร์ เจริญเมือง

รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การชุมนุมที่เกิดขึ้น ประการที่ 1 เราอยู่ในยุคดิจิตอลการส่งข่าวสารถึงกันเร็วมาก 2.กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วโลกไปไกลมาก

3.การพัฒนาประเทศไทยและการเมืองที่ล่าช้ามาก อันเป็นผลพวงจากที่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศอื่น ทำให้ระบอบการปกครองเดิมยังอยู่ แบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ อยู่แบบหมอบๆ คลานๆ กันไป การพัฒนาทางการเมืองจึงล่าช้า

แม้จะมีเหตุการณ์ต่อสู้ของกลุ่มการเมืองในอดีตยุคต่างๆ เช่น จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ แต่ก็ขาดอุดมการณ์การเมืองที่ชัดเจน ไม่ใช่การต่อสู้กับต่างชาติ หากสู้กันเอง สุดท้ายการปกครองก็อยู่แบบเดิม ขับไล่ไปก็เอากลับเข้ามา แล้วพวกขุนศึกศักดินาก็ต้องกระชับพื้นที่ ปรับตัวรวมศูนย์อำนาจ คุมวัด การศึกษา ตำรวจ ทหาร

ทั้งหมดคือมูลเหตุของการแสดงออกวันนี้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือต่างประเทศมีกติกาที่ชัดเจน อยู่ได้แค่ 4 ปีก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่อยู่ 6-7 ปี

การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ไม่ใช่รัฐประหารแต่ก็เหมือนรัฐประหาร ที่ไม่ทำเพราะรัฐประหารเป็นเรื่องน่ารังเกียจ ไม่มีใครยอมรับ ไม่ทำเพราะกลัวโดนด่า

เชื่อว่าแม้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงม็อบก็ไม่จบ เพราะฝ่ายหนึ่งขอให้ลาออก ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เอาแค่ 2 ข้อนี้ก็ยังไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล แต่กลายเป็นว่ามาจับแกนนำผู้ชุมนุมไปส่วนหนึ่ง แล้วจะจบได้อย่างไร เขามีเป็นแสนที่มีหนึ่งใจเดียวกัน คนที่บ้านอีกเท่าไร

คนที่มาเขามาด้วยใจ ไม่มีใครมาบีบบังคับ เมื่อข้อเรียกร้องไม่บรรลุเป้าหมายก็มาอีก เป็นเรื่องปกติ

ทางออกคือการเปิดเจรจา ยกตัวอย่างให้ผู้ชุมนุม พรรคการเมืองส่งตัวแทนมาร่วมพูดคุย เปิดเป็นเวทีสมัชชาสัก 200 คน ปล่อยคนที่โดนจับมาพูดคุย เชื่อว่าจะหยุดการชุมนุมได้ แต่ถึงตอนนี้ไม่มีการตอบสนองข้อเรียกร้อง จึงเป็นปัญหาว่าทำไมไม่จบ นำมาสู่การชุมนุมที่ยืดเยื้อ

เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกก็ไม่ออก ให้ร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ทำ ประชุมเจรจาก็ไม่มี ไม่มีบรรยากาศพบปะพูดคุย ไม่มีการแลกเปลี่ยน เท่าที่ดูนายกฯ ไม่ได้อยากพูดถึงข้อเรียกร้อง เสนออะไรก็ไม่ตอบ พูดอยู่อย่างเดียวเหนื่อย

แนวโน้มจะยืดเยื้อ และจะลามออกไปเรื่อยๆ แบบเดียวกับฮ่องกง แต่อย่าลืมว่าประเทศไทยมีพื้นที่ใหญ่กว่า การเปิดเจรจา เป็นหนทางเดียวที่จะหยุดเรื่องนี้ได้

การเข้าสลายการชุมนุมค่ำวันที่ 16 ต.ค. หลังนายกฯ แถลงเรื่องพญามัจจุราช สะท้อนว่าเขาคิดปราบปรามอยู่แล้ว การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงก็เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ แต่ถึงจะปราบก็ไม่จบ

การชุมนุมวันนี้เปลี่ยนรูปโฉมไปแล้ว คนที่มาชุมนุมไม่ใช่คนต่างจังหวัดที่พากันเข้ากรุงแล้วเชื่อผู้นำ แต่ปี 2563 คนที่มาชุมนุมเป็นคนเมือง คนมีการศึกษา เป็นขบวนปัญญาชน และมีเครื่องมือสื่อสาร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน