คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
เลือกตั้งสหรัฐ – การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ชาติมหาอำนาจที่เป็นพันธมิตรกับไทย เวียนกลับมาอีกครั้งวันที่ 3 พ.ย.นี้ เป็นวันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนเหมือนทุกครั้ง
แม้ว่าปีนี้จะเกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งสหรัฐมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงที่สุด เป็นอันดับ 1 ของโลก
เดิมเคยมีข้อสังเกตว่า การเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปตามสถานการณ์โควิด-19 ดังกล่าว รวมถึงการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี เพิ่งป่วยโควิดได้ไม่นาน
แต่มาถึงวันนี้ พิสูจน์แล้วว่ากระบวนการเลือกตั้งประชาธิปไตยดำเนินไปได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีปัจจัยโควิดแทรกซ้อน
ก่อนหน้าการเลือกตั้งของสหรัฐ ประเทศประชาธิปไตยอย่างเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์จัดการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้สำเร็จลุล่วงไปได้แล้วเช่นกัน
แม้ว่าสองประเทศนี้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าของสหรัฐ แต่ชาวอเมริกันก็ยังใช้สิทธิและการมีส่วนร่วมทางการเมือง
สังเกตได้จากจำนวนคนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของสหรัฐ มีจำนวนสูงกว่า 92 ล้านคน สูงกว่า ครั้งก่อนๆ หรือคิดเป็นร้อยละ 58 จากจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน
การเปิดกว้างด้วยระบบที่ยึดประชาชนเป็นหลัก และคำนึงถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดนี้ ช่วยผลักดันให้กระบวนการประชาธิปไตยดำเนิน ไปได้
แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
กรณีสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจ นานาประเทศต่างจับตาว่านายโดนัลด์ ทรัมป์จะรักษาเก้าอี้ผู้นำสมัยที่สองไว้ได้หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนมือกลับไปเป็นพรรคเดโมแครตที่ส่งอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน ลงชิงชัย
เนื่องจากช่วง 4 ปีมานี้สหรัฐมีนโยบายและปรากฏการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศแบบใหม่ขึ้น ทั้งสงครามการค้ากับจีน การพบปะผู้นำเกาหลีเหนือ การถอนตัวจากข้อตกลงและองค์กรระหว่างประเทศ ในที่นี้รวมถึงองค์การอนามัยโลก
แม้แต่การเปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำรัฐประหารจากไทยเมื่อปี 2560 และการตัดจีเอสพีไทยในปี 2563 ล้วนเป็นเรื่องใหม่
แต่เชื่อมั่นได้ว่าเรื่องที่สหรัฐต้องดำรงไว้คือระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกเอง และกองทัพไม่มีอำนาจแทรกแซง