FootNote:คำถามถึง ประยุทธ์ จันทร์โอชา อุบัติแห่ง กรรมการสมานฉันท์
การมองการเมือง การมองแต่ละการเคลื่อนไหวของนักการเมือง จำเป็นต้องมองอย่างเป็น “กระบวนการ” จะมองอย่าง “ตัดตอน”ท่อนใด ท่อนหนึ่งไม่ได้
อย่างเช่นบทบาทของ นายอานันท์ ปันยารชุน อย่างเช่นบทบาทของ นายชวน หลีกภัย
หรือแม้กระทั่งบทบาทของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ นายอานันท์ ปันยารชุน จึงนิ่งสงบอยู่ในบ้าน เหมือนที่เคยกระทำมาอย่างยาวนานไม่ได้ จำเป็นอะไรต้องออกมาให้”ความเห็น”
เป็นการให้ความเห็นอย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดนิ่ง
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ นายชวน หลีกภัย จึงต้องแข็งขันกับการแปรนามธรรมในทางความคิดของ”คณะกรรมการสมานฉันท์”ให้ออกมาเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ
ทั้งๆที่เรื่อยๆมาเรียงๆก็สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆแบบเบิร์ด
แล้วเหตุใดนามของ นายชวน หลีกภัย นามของ นายอานันท์ ปันยารชุน จึงมาวางเรียงเคียงกับนาม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
ทั้งๆที่นับแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งๆที่นับแต่เดือนมีนาคม 2562 ก็มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผนึกเป็น”พลัง 3 ป.”ช่วยทำงานอย่างแข็งขัน
แล้วเหตุใดในเดือนตุลาคม 2563 จึงต้องมีข้อเสนอและเรียกร้องให้จัดตั้ง”คณะกรรมการสมานฉันท์”ตกอยู่บ่าของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา
ไม่ว่าสายตาของ นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าสายตาของ นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าสายตาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ย่อมมองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นี่คือเครื่องมือช่วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วยรัฐบาล
หากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินหน้าไปได้โดยปกติ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมี “คณะกรรมการสมานฉันท์”
คำถามก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คิดอย่างไรต่ออุบัติแห่ง”คณะกรรมการสมานฉันท์”ที่จะปรากฏขึ้น
ยินดี เต็มใจ หรือว่าหงุดหงิด งุ่นง่านและไม่พอใจ
ไม่ว่าการปรากฏชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือแม้กระทั่งชื่อของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ล้วนเรียกร้องอย่างเร้าใจ
เร้าใจต่อผลงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างสูง