FootNote : “สาส์น” ล่าสุด สื่อจาก”ราษฎร” กับบทบาท ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อการเคลื่อนไหวของ “ราษฎร” จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าสำนักพระราชวัง รัฐบาลยังคงใช้กรรมวิธีในการจัดการกับปัญหาเหมือนเดิม

เหมือนกับเมื่อ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ส่งคำร้องจากสนามหลวงในตอนเช้าของวันที่ 20 กันยายน

เป้าหมายของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ต้องการส่งผ่านสำนักองคมนตรี โดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นผู้รับและรับปากจะส่งไปยังสำนักองคมนตรี

คำถามก็คือ จากวันที่ 20 กันยายน มาจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน หนังสือจาก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ถึงมือของสำนักองคมนตรีแล้วหรือยัง

จากปฏิบัติการเมื่อวันที่ 20 กันยายน มายังปฏิบัติการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน คนที่มารับหน้าแทนรัฐบาลก็ยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลคนเดิม

คำถามก็จะยังเป็นเหมือนเดิมว่าในที่สุด “ราษฎรสาส์น” ที่อยู่ในตู้ไปรษณีย์สีแดงจะไปถึง “ปลายทาง”หรือไม่

ถามว่าการเคลื่อนไหวของ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” การเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” การเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร 2563″เป็นเรื่องจริงจังหรือไม่

หากดูจากปฏิบัติการของรัฐบาลผ่านกระบวนการของผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องเล่นๆ

เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เอาชนะคะคานกัน เพียงรับหนังสือมาอยู่ในมือแล้วเก็บดองเอาไว้ ไม่มีปฏิบัติการอะไรตามที่รับปากเอาไว้กับผู้ชุมนุม ก็คิดว่าตนเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ

นั่นแหละจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ยกระดับมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนขบวนจากสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี

รวมถึงการเคลื่อนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อส่ง “สาส์น”

รู้ทั้งรู้ว่า “สาส์น” อันเขียนขึ้นมาโดย “ราษฎร” นี้ต้องการสื่อไปยังเป้าหมายใด แต่ก็ยังเพิกเฉยและไม่ปฏิบัติแม้จะรับปากแล้วก็ตาม

เช่นนี้เองจึงนำไปสู่บทสรุปจากความจัดเจนของอดีตนายกรัฐมนตรีระดับ นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ว่า เรากำลังอยู่ในสถานการณ์แบบที่เรียกได้ว่า “ฟัง” แต่ “ไม่ได้ยิน”

ทั้งๆที่ “สาส์น” นั้นสื่อออกมาโดย “ราษฎร” และเป็นภาษาไทย

เมื่อ “ฟัง” แล้วแต่ “ไม่ได้ยิน” การสนองตอบจึงผิดเพี้ยนไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน