FootNote : ปฏิบัติการ IO ด้าน”การข่าว” กับ ความเป็นจริง ของ”ม็อบ”

บทสรุปที่ว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของประชาชนจะฝ่อลงและค่อยๆ หมดบทบาทเริ่มต้นจากการมองสถานการณ์ ณ ศิริราชพยาบาล เมื่อ 24 กันยายน ด้วยการขยายในลักษณะมโนทางการเมือง

เพราะประเมินว่าสถานการณ์นี้เมื่อส่งผลสะเทือนถึงภายในพรรคเพื่อไทย ก็ย่อมส่งผลสะเทือนถึง “คนเสื้อแดง”

ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นั้น ได้ถึงจุดที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว

เห็นได้จากการปรากฏขึ้นของกลุ่มแคร์ ขับเคลื่อน ความคิดอันมี นายพงษ์ศักดิ์ รัตพงษ์ไพศาล เป็นกำลังสำคัญและแวดล้อมด้วย นายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

จากนั้นก็ส่งผลสะเทือนเข้าไปภายในพรรคเพื่อไทย กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะต่อกรรมการยุทธศาสตร์

ตรงนี้ไม่มีอะไรสัมพันธ์กับ “เยาวชนปลดแอก”เลย

สถานการณ์เมื่อวันที่ 24 กันยายน ไม่มีอะไรกระทบต่อการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก”เลย ตรงกันข้ามในการเคลื่อนไหวเดือนตุลาคมกลับพัฒนาเป็น “คณะราษฎร 2563”

รูปธรรมสำคัญก็คือ การเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม

ได้สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับคำทำนายที่ว่า “ฝ่อแล้ว ฝ่อแล้ว”

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ร้ายแรง อาจต้องการเผด็จศึกบนความเชื่อจากข้อมูลที่ว่า “ฝ่อแล้ว ฝ่อแล้ว” จึงได้เข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 15 และซ้ำอีกครั้งในวันที่ 16 ตุลาคม

แต่ผลอันปรากฏในวันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นมาก็คือ ไม่ว่าจะที่ห้าแยกลาดพร้าว ไม่ว่าจะที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่ว่าจะที่แยกเกษตร บางเขน ล้วนคึกคัก เข้มข้น

ยืนยันคำคาดหมายที่ว่า “ฝ่อแล้ว ฝ่อแล้ว”ไม่เป็นความจริง

โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนขบวนไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี และเมื่อเคลื่อนขบวนไปยังหน้าสำนักราชวัง

เด่นชัดว่า ไม่ว่าข่าวปล่อยที่ว่ามีการติดต่อเพื่อลี้ภัยการเมืองที่หลุดออกมา ไม่ว่าการประเมินจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ล้วนเป็นพื้นฐานแห่งปฏิบัติการไอโอด้านการข่าว

คำชี้แจงที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงซึ่งจะปรากฏในวันที่ 14 พฤศจิกายนเป็นสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน