FootNote : ประจันหน้า ความคิด ณ รัฐสภา จาก”ไทยภักดี” มายัง “ราษฎร”
วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน จะเป็นอีกวันหนึ่งซึ่งส่งผลให้ 2 การชุมนุมวนมาสร้างภาพเปรียบเทียบให้โดยอัตโนมัติ 1 คือการชุมนุมของไทยภักดี 1 คือการชุมนุมของราษฎร
จะผิดแผกแตกต่างก็เพียงแต่ไทยภักดีนัดหมายตั้งแต่เช้า ขณะที่ราษฎรนัดหมายในตอนบ่ายแก่ๆ
โดยเป้าหมายอยู่ที่เดียวกัน นั่นคือ บริเวณหน้า “รัฐสภา”
รายละเอียดของการชุมนุมของไทยภักดีจะยืดเยื้อหรือไม่ ยังไม่มีการแจ้งข่าวออกมา ขณะที่รายละเอียดของการชุมนุมของราษฎรมีความเด่นชัดโดยพื้นฐาน
นั่นก็คือ จะชุมนุมจนกว่าจะรู้ผลว่ามติของที่ประชุมรัฐสภาในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน จะออกมาอย่างไร และมตินั้นจะนำไปสู่ผลอย่างไรในการชุมนุมยังไม่มีคำตอบ
เพราะคำตอบอยู่ที่ “มติ”ต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่าจะเป็นอย่างไร
นี่จึงเป็นการชุมนุม “วัดใจ”อย่างแหลมคมยิ่งทางการเมือง
เป้าหมายของไทยภักดีประกาศตั้งแต่ต้นอย่างแจ่มชัด นั่นก็คือ ต้องการปกปักษ์รักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขใดๆทั้งสิ้น
เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย
ตรงกันข้าม ท่าทีของ “เยาวชนปลดแอก”ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมกระทั่งยกระดับเป็น “คณะราษฎร 2563″ในเดือนตุลาคม และเป็น “ราษฎร”ในปัจจุบัน
ต้องการให้มีการชำแหละรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่มีประชาชนเห็นชอบด้วยกว่า 100,000 รายชื่อเป็นต้นแบบ
เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ร่างเพื่อสืบทอดอำนาจของคสช. อำนาจอธิปไตยมิได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
นี่คือการปะทะทาง “ความคิด” ผ่าน “รัฐธรรมนูญ”สำคัญ
ไม่มีใครคาดหมายว่ามวลชนของไทยภักดีจะออกมาด้วยจำนวนมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครคาดหมายว่ามวลชนของราษฎรจะออกมา ด้วยจำนวนมากน้อยเท่าใด
นี่คือเงาสะท้อนของความขัดแย้งอันแหลมคมยิ่งในทางการเมือง
ในที่สุดก็มาบรรจบกัน ณ บริเวณหน้า “รัฐสภา”
เท่ากับเป็นการเปิดวิวาทะทั้งในทาง “ความคิด”และในทาง “การเมือง” บนหนทาง “รัฐสภา”ทั้งที่อยู่ภายในและที่อยู่ภายนอก