FootNote:มาตรการเข้มข้นทางกฎหมาย กับการระงับยับยั้ง “การชุมนุม”

แท้จริงแล้วอุบัติการแห่ง Flash Mob มีคุณลักษณะใกล้เคียงเป็นอย่างยิ่งกับการสู้รบอย่างที่เรียกกันว่า “จรยุทธ์”

เพราะว่า Flash Mob ไม่ว่าในเรื่องของดนตรี ไม่ว่าในเรื่องของการทำงานศิลปะดำเนินไปโดยรวดเร็วและมีความเป็นอัตโนมัติ

การปรากฏขึ้นของ Flash Mob นับแต่ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จึงเป็นความจัดเจนหนึ่ง

เป็นความจัดเจนในการสร้าง “ปรากฏการณ์” อันสะท้อนลักษณะในทาง “ความคิด” และดำเนินไปอย่างมีเป้าหมายในทาง “การเมือง”อันเด่นชัด

ไม่ว่าจะเป็นยุคของนัดหมายกิน”แม็ค” ไม่ว่าจะเป็นยุคของการนัดหมายสร้างพื้นที่ “ที่นี่มีคนตาย” ไม่ว่าจะเป็นยุคของนัดหมายอ่านหนังสือ”1984″

แต่ที่อึกทึกครึกโครมเป็นอย่างมากกลับเป็น Flash Mob เมื่อเดือนธันวาคม 2562 บนสถานีรถไฟฟ้ากลางมหานคร

อาจกล่าวได้ว่าปรากฏการณ์ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 คือความต่อเนื่องของ Flash Mob ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

แต่ที่ต้องงันชะงักอย่างชั่วคราวเนื่องจากประสบเข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ประสบเข้ากับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินห้ามการชุมนุม

กระนั้น เมื่อถึงเดือนกรกฎาคมก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะสกัดขัดขวางการชุมนุมได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นคำขู่ในเรื่องโควิด

เพียงแต่นัดใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2563 เป็นการชุมนุม ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแพร่กระจายไปในจังหวัดต่างๆในขอบเขตทั่วประเทศและกลายเป็นวิถีอย่างหนึ่งของสังคมไทย

เป็นวิถีแห่งการชุมนุม เป็นเวทีทางการเมืองในการแพร่กระจายความคิดเพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่

มีความพยายามจะนำมาตรการทาง”กฎหมาย”ประสานกับวิธีการในการคุมเข้มแต่ละก้าวย่างเพื่อสกัดขัดขวาง ระงับยับยั้งมิให้การชุมนุมขยายตัวเติบใหญ่

แต่เมื่อเป็นการเคลื่อนไหวในแบบ Flash Mob อันดำเนินไปในแบบ รุกเร็ว ถอยเร็ว

ดำเนินไปอย่างมีลักษณะที่ยืดหยุ่นและพลิกแพลงสูง

ขณะที่ขวัญในการเคลื่อนไหวของมวลชนมีแต่ฮึกห้าวเหิมหาญ ไม่มีความหวาดหวั่นพรั่นพรึง

จึงประเมินยากว่ามาตรการเข้มจะได้ผลมากน้อยเพียงใด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน