รายงานพิเศษ ภาพสะท้อน-หลังศึกเลือกตั้งอบจ.

ภาพสะท้อน-หลังศึกเลือกตั้งอบจ. – ผลเลือกตั้งนายกอบจ. พลังประชารัฐกวาดมาหลายจังหวัด

ขณะที่พรรคเพื่อไทยแม้จะพอใจกับผลที่ได้ 9 ที่นั่ง จากที่ส่ง 25 จังหวัด แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่ง

ส่วนคณะก้าวหน้า ยังไม่สามารถปักธงนายกอบจ.ได้เลย ทั้งที่ลุยทำพื้นที่ก่อนใคร

ผลที่ออกมาสะท้อนอะไร และจะเป็นเกณฑ์วัดผลไปถึงสนามใหญ่ได้หรือไม่

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

ผลเลือกตั้งอบจ. มองได้ว่าอิทธิพลการเมืองแบบเก่า บ้านใหญ่ และหัวคะแนนยังมีอิทธิพลอยู่ คณะก้าวหน้าจึงไม่ประสบความสำเร็จ

พรรคเพื่อไทยผลที่ออกมาก็ยังพอกู้หน้าได้ ส่งนายกอบจ. 25 ได้มา 9 ที่นั่ง จากจังหวัดใหญ่ๆ ที่เต็งไว้ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ จะเห็นได้ว่าบารมีของนายทักษิณ ชินวัตร ยังอยู่ แต่คนที่โดนเสียดสีที่สุดคือคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ไปช่วยหาเสียงที่ไหนก็ไม่ได้สักที่ ต้องยอมรับความจริงว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นตัวแม่กทม. แต่ไม่ใช่ขวัญใจต่างจังหวัด

สุขุม นวลสกุล

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก็พอคุยได้ว่ายังได้รับความนิยมอยู่พอสมควร แม้จะปรากฏคู่แข่งให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถผูกขาดได้เหมือนเมื่อก่อน

พรรคพลังประชารัฐ ไม่ส่งผู้สมัครอย่างเป็นทางการเพราะเป็นการแข่งกันเอง โดยใช้คำว่าประชารัฐหาเสียงแต่ไม่ได้ใช้ชื่อพรรค บางพื้นที่แม้ไม่ได้ประกาศส่งลงสมัครแต่เป็นที่รู้กันก็สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

ที่ชนะเข้ามาหลายจังหวัด เพราะผู้สมัครของเขามีวิธีหาเสียงที่ถูกใจคนท้องถิ่น ประกอบกับระยะหลังนโยบายของรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ คนที่ลงสมัครได้คะแนนจากโครงการคนละครึ่งเยอะ ก็ต้องดูการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นเลือกตั้งท้องถิ่นอีก คือเทศบาล อบต. และกทม. คิดว่าน่าจะมีคนจากสนามใหญ่ไปลงอีกเยอะ จะวัดกันอีกครั้งไม่เกินเดือน มี.ค. หรือเม.ย. 2564

แต่น่าสนใจคือพรรคภูมิใจไทย แม้ไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรคแต่ก็คว้าในจังหวัดใหญ่ ทั้งภาคใต้ อีสาน ก็ต้องถือว่าเป็นเสือซุ่ม ไม่หาเสียงแบบชูธงพรรคแต่กลายเป็นว่ารวมดาวช่วยกันไปเลย

ส่วนคณะก้าวหน้าที่ไม่ได้นายก อบจ.เลย แต่ได้ส.อบจ. 57 คน ถือว่าไม่มากเพราะส่งเป็นพันคน แต่ได้มา 57 คนก็ไม่ถึงกับเสียหน้า คิดว่าอิทธิพลการหาเสียงแบบเดิมยังอยู่ในท้องถิ่น ที่ยังสัมพันธ์กันอยู่ กระแสไม่สามารถทำอะไรความสัมพันธ์ได้

และระยะหลังต้องยอมรับว่าคณะก้าวหน้าโดนป้ายสีเรื่องล้มเจ้าอยู่ แต่ก็ยังย้ำจุดยืนว่าที่พูดคือการปฏิรูปไม่ใช่การล้มเจ้า และกลายเป็นจุดอ่อนว่าสิ่งที่เขาพูดเขาดึงเป็นกระแสไม่ได้เลย ไปทางไหนก็มีแต่เรื่องล้มเจ้า เรื่องของนโยบายหรือสิ่งที่จะพัฒนาในพื้นที่กระแสไม่ขึ้นมาเลย จึงวนเวียนอยู่แค่เรื่องล้มเจ้า ซึ่งที่จริงน่าจะให้ความเป็นธรรมกับเข้าบ้าง

คณะก้าวหน้าคงไม่ปรับวิธีการหาเสียง เพราะพูดบ่อยๆ คนก็คงเห็นความจริงว่าคืออะไร ถ้าหยุดก็เท่ากับยอมรับว่าที่ทำมาไม่ถูก ดังนั้น ต้องไปต่อให้คนเข้าใจให้ได้ว่าเป็นการปฏิรูปไม่ใช่ล้มล้าง รวมถึงประเด็นต้านการสืบทอดอำนาจ นายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง ยังต้องสู้อีก

ส่วนเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา จะส่งผลอย่างไรต่อสนามใหญ่นั้น ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งสนามใหญ่ยังอยู่อีกไกล ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ แต่ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นคนลงสมัครน้อย เพราะไม่มีการเลือกตั้งข้ามเขต ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นเรื่องเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นเรื่องท้องถิ่นที่คนอยู่ในพื้นที่ควรมีสิทธิเลือก

การเลือกตั้งท้องถิ่นกับระดับชาติต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา วิวัฒนาการการเลือกตั้งระดับชาติไปไกลกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยที่ฝ่ายหนึ่งพยายามยึดอยู่แนวเดิมที่ถนัดและได้เปรียบ แต่อีกฝ่ายก็พยายามสู้ การเลือกตั้งระดับชาติต้องสู้กับกระแส ซึ่งเป็นสากล แต่เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่

ดูได้จากการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา พรรคอนาคตใหม่ถือว่าได้ส.ส.มากกว่าที่คิด อะไรไม่รู้โผล่มาได้ถึง 80 ที่นั่ง คงจะเห็นอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นพพร ขุนค้า

รัฐประศาสนศาสตร์

มนุษยศาสตร์ฯ มรภ.ราชนครินทร์

แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ส่งผู้สมัครในทางนิตินัย แต่ในทางพฤตินัยหลายจังหวัดเรารู้ดีว่าผู้สมัครคนไหนคือคนของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็ได้รับการเลือกตั้งอยู่หลายจังหวัด และชัยชนะหลายจังหวัดนั้นเพราะพลังประชารัฐมีอำนาจ อิทธิพลจากทางราชการ และมีความได้เปรียบต่างๆ อยู่

นพพร ขุนค้า

และแน่นอนว่าบริบทการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติแตกต่างกัน คือ การเมืองท้องถิ่นมีเรื่องผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล แม้กระทั่งการซื้อเสียงยังเกิดขึ้นสะพัดในหลายจังหวัด

ส่วนพรรคเพื่อไทยแม้จะได้แค่ 9 ที่นั่ง แต่ต้องเข้าใจในสถานการณ์ของภายในพรรคมีความกระชับ แฟนคลับก็อาจแอบหายไปบ้าง แต่การได้มาใน 9 ที่นั้น โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นฐานที่มั่น เช่น อุดรธานี เชียงใหม่ ก็ถือว่าไม่เสียหายเยอะ ยังคงตรึงฐานอำนาจของตนเองไว้ได้ดี

กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

เชื่อว่าถ้าการเมืองสนามใหญ่พรรคจะทุ่มเต็มที่มากกว่านี้ และรู้ทิศทางมากกว่านี้ จึงเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยยังได้ส.ส. เข้ามาในอันดับต้นๆ ของสภาได้อยู่

สำหรับคณะก้าวหน้า การเลือกตั้งอบจ.ครั้งถือเป็นประสบการณ์ ต้องเข้าใจว่าการเล่นการเมืองท้องถิ่นจะไม่เหมือนกันเมืองใหญ่ การเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมา ถือเป็นจังหวะที่ดีเพราะช่วงนั้นมีการยุบพรรคไทยรักษาชาติ คะแนนเหล่านั้นจึงมาสนับสนุนให้อนาคตใหม่ด้วย

ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ต้องเรียนรู้บริบทการเมืองท้องถิ่นให้มากกว่านี้ การเมืองท้องถิ่นประชาชนจะเลือกคนที่ได้เห็นหน้าและเข้าถึงประชาชนอย่างจริงๆ

ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยนั้นการพัฒนาการเมืองจะมองเรื่องนโยบายอย่างเดียวไม่ได้ เพราะประชาชนยังมองการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นหน้าค่าตากันเป็นประจำแล้วจึงเลือก

การสร้างฐานของท้องถิ่นไม่ใช่ว่าจะมาสร้างใน 1-2 ปีแล้วมันสำเร็จ ต้องยอมรับว่าฐานอำนาจเก่ายังประสบความสำเร็จอยู่ในการเมืองท้องถิ่น ซึ่งจุดนี้นายธนาธรจะต้องไปปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย แต่ก็แอบชื่นชมคณะก้าวหน้าที่มีการใช้ลักษณะการเมืองแบบที่ใช้นโยบายสู้ แต่ก็ยังไม่ตอบสนองคนไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้

จุดอ่อนของคณะก้าวหน้าคือ การยังไม่เข้าถึงประชาชน เข้าใจว่าพยายามสู้ด้วยนโยบายแต่คนไม่ได้เข้าถึงนโยบายอย่างแท้จริง การคัดเลือกตัวผู้สมัครเรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะการเมืองท้องถิ่นผู้ได้รับเลือกส่วนใหญ่เป็นที่เคารพนับถือของคนในท้องที่นั้น อย่างที่บอกการเมืองไม่ใช่จะสร้างในวันสองวัน อีกทั้งกระแสยังไม่มากพอ

ถ้าเทียบการเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่น บริบทการเมืองใหญ่มีเรื่องของการคาดหวังว่าใครจะได้มาเป็นนายกฯ จึงทำให้กระแสกระตุ้นได้ดีกว่า แต่บริบทการเมืองท้องถิ่นไม่ได้มีการคาดหวังว่าใครจะมาเป็นนายกฯ เป็นเรื่องของท้องถิ่นใครท้องถิ่นมัน และบริบทของท้องถิ่นมีระบบช่วยเหลือกัน

โดยสรุปผลเลือกตั้งสะท้อนให้เห็นว่า การเลือกระดับชาติกับท้องถิ่นมีแค่บางส่วนที่ผูกโยงกัน เช่น พรรคที่มีอำนาจ มีอิทธิพล และมีงบประมาณในการใช้จ่ายในการเลือกตั้งยังมีบทบาททำให้นำไปสู่เส้นชัยได้

ที่ต่างกันคือการเมืองใหญ่เป็นภาพรวมของประเทศด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาให้ประชาชน ด้วยการเมืองระดับชาติเป็นภาพรวม ส่วนท้องถิ่นเป็นการเมืองใกล้ตัว คนละบริบทคงจะมาผูกโยงไม่ได้เสียทีเดียว

จึงไม่ใช่ว่าจะไปการันตีว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้คะแนนนิยมเหมือนการเมืองท้องถิ่น และก็ไม่ได้การันตีว่านายธนาธรจะดับ

ยุทธพร อิสรชัย

รัฐศาสตร์ มสธ.

เลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมา มี 3 ปัจจัย 1.เรื่องกฎหมาย ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง และมาตรา 34 กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น 2562 ที่ทำให้เกิดประเด็นปัญหา ซึ่งวินิจฉัยไปถึงขั้นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส. เจ้าหน้าที่รัฐ ช่วยหาเสียงไม่ได้ ทั้งที่จริงกฎหมายเขียนห้ามการใช้อำนาจหน้าที่กลั่นแกล้ง ให้คุณให้โทษเท่านั้น

ซึ่งย้อนแย้งกัน คือกฎหมายเปิดโอกาสให้พรรคส่งผู้สมัครได้ทั้งทางตรง ทางอ้อม จึงส่งผลกับพรรคต่างๆ ฝ่ายอำนาจรัฐจึงได้เปรียบการใช้กฎหมายต่างๆ

ยุทธพร อิสรชัย

2.อำนาจการเมืองระดับท้องถิ่น ตระกูลการเมือง ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หรือการเป็นผู้อุปถัมภ์ช่วยเหลือชุมชน เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของผู้ลงคะแนน ดังนั้น ถ้ากลุ่มการเมืองไหนเชื่อมโยงอำนาจรัฐด้วย โอกาสจะได้เปรียบก็จะมีสูง

3.พฤติกรรมการลงคะแนนเลือกตั้ง การเมืองท้องถิ่นกับระดับชาติมีสิ่งชี้วัดคนละตัวกัน ระดับชาติอาจเป็นเรื่องนามธรรมค่อนข้างสูง เช่น การเรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพต่างๆ แต่ท้องถิ่นคนในพื้นที่ต้องการรูปธรรมที่จับต้องได้ น้ำไม่ไหล ไฟไม่สว่าง ทางไม่ดี แก้ให้เขาได้ ปัจจัยที่เป็นรูปธรรมเหล่านี้ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจรัฐจะได้เปรียบอยู่แล้ว

ปัจจัยทั้งสามประการทำให้ภาพการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ แต่ไม่ได้มีผลอะไรมากหรือชี้วัดการเมืองระดับชาติ ในเขตเมืองอาจพอเห็นภาพความเชื่อมโยงกับในระดับชาติ แต่เขตนอกเมืองยิ่งเชื่อมโยงได้น้อย ต่างจากบริบทเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งเป็นเขตเมือง ที่การตัดสินใจอิงอยู่กับการเมืองระดับชาติ

เพื่อไทยชนะ 9 จังหวัด วัดยากว่าความนิยมของพรรคลดลงหรือไม่ เพราะปัจจัยชี้วัดท้องถิ่นกับระดับชาติเป็นคนละตัว และเพื่อไทยอาจส่งผู้สมัครที่ไม่เป็นที่นิยมของคนในพื้นที่ หรืออาจมีตระกูลใหม่ๆ เติบโตขึ้น เพราะ 7 ปี ไม่มีเลือกตั้งท้องถิ่นเลย

บริบทคณะก้าวหน้า ที่เสนอประเด็นเชิงนโยบาย เชิงวิสัยทัศน์ต้องการเปลี่ยนแปลง จะเขย่าท้องถิ่น จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก

ที่สำคัญฐานตระกูลการเมืองมีความสำคัญมากกว่าการขอจากผู้สมัครหน้าใหม่ ถ้ามองจากมุมคนนอกเรื่องเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล หรือตระกูลการเมืองเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ไม่พึงปรารถนา แต่คนในพื้นที่อาจมองว่าระบบเจ้าพ่อช่วยแก้ปัญหาให้เขา เป็นเหมือนซีอีโอ ลดการเข้าถึงการบริการสาธารณะที่ไม่เสมอภาค และตอบสนองความต้องการได้เร็ว

สิ่งที่คณะก้าวหน้าเสนอไม่มีอะไรผิด ในทางหลักวิชาการถูกต้อง เช่น ยุติรัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจสู่ประชาชน แต่สิ่งเหล่านี้คนทั่วไปสัมผัสได้แค่ไหน เพราะบริบทการเลือกตั้งในไทยยังคงอยู่ท่ามกลางภาวะของรัฐรวมศูนย์อำนาจ การกระจายอำนาจยังไม่สมบูรณ์ บริการสาธารณะที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค

คณะก้าวหน้าอาจเอกซเรย์ท้องถิ่นไทยยังไม่ออก อันนี้คือปัญหาใหญ่ของคณะก้าวหน้า ส่วนส.อบจ.จากทั้งประเทศ 2,000 กว่าคน คณะก้าวหน้าได้ 57 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ยังไม่ถือว่ามีนัยยะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงเท่าไร

อนาคตท้องถิ่นอาจมีการกระจายอำนาจและสร้างความเข้มแข็งในชุมชนมากขึ้นตามแนวทางคณะก้าวหน้า คณะก้าวหน้าอาจมาก่อนกาลไปนิด จึงต้องรอเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน