คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ความหวัง ริบหรี่ – เมื่อเอ่ยถึงกรณี “สมานฉันท์” ก็ต้องมองไปยัง นายชวน หลีกภัย ด้วยความเห็นใจ

ต้องยอมรับว่า พรรคประชาธิปัตย์โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตัดสินใจเสนอเรื่องการจัดตั้งคณะ กรรมการ “สมานฉันท์” เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนพฤศจิกายน

ก็เพื่อต้องการชูบทบาทของ นายชวน หลีกภัย ให้สูงเด่น

ด้วยความเชื่อที่ว่า หากพรรคประชาธิปัตย์โดย นายชวน หลีกภัย สามารถขับเคลื่อนในเรื่องของปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้ในทางเป็นจริง

นั่นคือการพลิกฟื้นเกียรติภูมิให้กับพรรคประชาธิปัตย์

ยิ่ง นายชวน หลีกภัย ขยับและขับเคลื่อน ยิ่งรับรู้ว่านี่มิได้เป็นเรื่องง่าย

เพราะหากเป็นเรื่องง่ายคณะกรรมการสมานฉันท์อัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยแต่งตั้งก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 คงเรียบร้อยไปแล้ว

ทั้งๆที่เป็นงานในความรับผิดชอบของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ในเมื่อคณะกรรมการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งมากับมือโดยมีกระทรวงกลาโหมเป็นแกนกลางยังล้มเหลว แล้วเมื่อมาอยู่ในมือ นายชวน หลีกภัย เช่นนี้

จะกลายเป็นความสำเร็จ จะกลายเป็นผลงานโบแดงได้หรือ

จากเดือนพฤศจิกายน มาถึงเดือนมกราคมก็เริ่มมี “คำตอบ” แจ่มชัดว่าจะจบลงอย่างไร

อย่าคิดว่าจะมีแต่เพียง 1 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ 1 คนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไม่เห็นด้วย หากแม้กระทั่งพรรคพลังประชารัฐก็ไม่เห็นด้วย

ตัวอย่างก็เมื่อมีการชูชื่อ “อดีต” นายกรัฐมนตรีขึ้นมา

ไม่ว่าจะเป็น นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือแม้กระทั่ง นายชวน หลีกภัย เองก็ถูกอาวุธลับจากพรรคพลังประชารัฐจวกแหลก

เด่นชัดว่าพรรคพลังประชารัฐก็พร้อมยื้อยุดฉุดกระชาก

มีความเป็นไปได้น้อยมากที่คณะกรรมการสมานฉันท์จะประสบผลสำเร็จ

หรือถึงจะดันทุรังจัดตั้งขึ้นแต่ในเมื่อขาดองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่ตั้งป้อมคัดค้านและต่อต้าน

ก็เท่ากับลาก “สมานฉันท์” ให้มา “เกยตื้น” อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน