สรอรรถ กลิ่นประทุม เสถียรภาพรัฐบาลมั่นคง

: สัมภาษณ์พิเศษ

ผมยังไม่เห็นประเด็นอะไรจะเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลแตกแยกกันได้… เท่าที่ดูขณะนี้เสียงของรัฐบาลยังมากพอที่จะทำให้การทำงานของรัฐบาลราบรื่น ไม่เกิดอุปสรรค

หมายเหตุ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ประเมินว่าแม้ปี 2564 รัฐบาลต้องเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ ทั้งญัตติซักฟอกของฝ่ายค้าน การชุมนุมขับไล่ หรือโควิดที่กลับมาระบาดหนักอีกระลอก แต่เชื่อว่ารัฐบาลเอาอยู่ ที่สำคัญเป็นปึกแผ่น ไม่แตกแยก

  • ฝ่ายค้านจะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลช่วงปลายม.ค. จะส่งผลอะไรหรือไม่?

ผมเล่นการเมืองมา 30 กว่าปี รัฐบาลไหนที่ทำงานได้ 3 ปีกว่า ถือว่าเยอะแล้ว ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ปีด้วยซ้ำไป คิดว่าวันนี้รัฐบาลก็มีเสถียรภาพมากพอสมควรที่ย่างมาสู่ปีที่ 3 ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นวิถีปกติของระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ดังนั้น การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเป็นสิทธิของฝ่ายค้านที่จะยื่นทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งรัฐมนตรีเองก็เข้าใจในบริบทนี้ และคงไม่ต้องวิตกกังวลมาก ถ้ารัฐมนตรีทำงานด้วยความสุจริตโปร่งใส สามารถอธิบายข้อครหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

ผมยังไม่เห็นประเด็นอะไรจะเป็นจุดที่ทำให้รัฐบาลแตกแยกกันได้ แต่การทำงาน ผมคงตอบแทนรัฐมนตรีไม่ได้ว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไร และฝ่ายค้านจะหยิบยกประเด็นไหนมาอภิปรายยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้มากเท่าไร จึงเร็วไปหน่อยที่จะวิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่

แต่เท่าที่ดูขณะนี้เสียงของรัฐบาลยังมากพอที่จะทำให้การทำงานของรัฐบาลราบรื่น ไม่เกิดอุปสรรค แตกต่างจากช่วงแรกที่เสียงปริ่มน้ำ หากเกิดเรื่องอะไร รัฐบาลอาจสั่นคลอนได้

อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับการทำงานของรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดนี้ด้วย ว่ามีความมั่นคงที่จะทำให้ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไว้วางใจ และลงมติให้ได้หรือไม่ คิดว่ายังไม่มีประเด็นปัญหาอะไรที่เราต้องไปกังวลมากเกินไป

ส่วนการทำงานการเมืองในปัจจุบัน ผมไม่เห็นว่าจะมีปัญหา เพียงแต่บางคนอาจกังวลในการแสดงความเห็น ซึ่งการทำหน้าที่ของส.ส.ต้องแยกให้เห็นชัดเจนว่าจุดยืนส.ส. จุดยืนของพรรคเป็นอย่างไร แล้วแสดงจุดยืนออกมา ถ้าจะไปกระทบใครเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่โดยมารยาทเราคงไม่ไปตำหนิพรรคอื่น เพราะเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็เฉยๆ

ผมคิดว่าเรื่องแบบนี้เราแสดงออกได้ ถ้าเป็นส.ส.แล้วไม่มีความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย ก็ไม่รู้ว่ามาทำหน้าที่อะไร ทั้งที่เราเป็นตัวแทนประชาชน เป็นปากเป็นเสียงแทนเขาพรรคภูมิใจไทยสนับสนุนการทำงานของส.ส.ของพรรคอยู่แล้ว

เราต้องพยายามทำนโยบายของพรรคให้ออกมาเป็นกฎหมายเร็วที่สุด ทำได้หรือไม่ได้ต้องมีคำอธิบายกับสังคม และสมาชิกพรรคว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ ปัญหาอุปสรรคคืออะไร

  • หลายครั้งที่รัฐบาลมีปัญหา พรรคภูมิใจไทยมักถูกเรียกร้องให้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล?

ผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพียงแต่เราต้องดูว่าข้อเรียกร้องนั้นมีเหตุมีผลแค่ไหน เราไม่ใช่จะตะแบงว่าต้องกอดคอกันไป เรามีจุดยืนของเรา แต่ขณะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอะไรที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเราก็พยายามเดินกันไป และพรรคพลังประชารัฐเองก็ฟังความเห็นพรรคร่วมรัฐบาล มีความประนีประนอมในการทำงานร่วมกัน

แม้ว่าการทำงานของส.ส.ในยุคใหม่จะมีการปรับเปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิดและการทำงานให้เข้ากับยุคสมัย เพราะสังคมวันนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก

  • สถานการณ์บ้านเมืองกับสถานภาพรัฐบาลในปี 2564?

สถานการณ์การเมืองปี 2564 นี้ คาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ลำพังเรื่องภายในสภาเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเสียงของรัฐบาลมีความมั่นคงมากอยู่แล้ว และแต่ละพรรคที่ร่วมรัฐบาลยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จึงไม่น่ามีปัญหาสำหรับการทำงานในสภา ในสถานะ ส.ส. หรือในสถานะพรรคร่วมรัฐบาล เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา

ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น การชุมนุมของบุคคลหลายกลุ่ม ซึ่งข้อเรียกร้องค่อนข้างแตกต่างกัน เราจึงต้องดู สิ่งที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำลังทำอยู่ในเรื่องของคณะกรรมการสมานฉันท์ ว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้มากน้อยขนาดไหน

ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการก็ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ และมีความเชื่อมโยงกับเรื่องของม็อบ เพราะหากตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้ว กลุ่มที่เรียกร้องคิดว่ามีความน่าเชื่อถือ เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งลงได้ ก็คิดว่ามีส่วนดีค่อนข้างเยอะ ต้องดูท่าทีกันต่อไป

ขณะเดียวกัน วันนี้ผมคิดว่าฝ่ายสภาเองก็พยายามทำให้เห็นว่ามีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะให้เยาวชนที่ชุมนุมเรียกร้องได้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความเห็น และรับฟังปัญหาของเขาหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคิดว่ามีความคืบหน้าแล้วระดับหนึ่ง มีความพยายามเปิดช่องให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น พร้อมกับการทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ค่อนข้างเปิดช่องให้บุคคลภายนอกราชอาณาจักรเข้ามามีส่วนร่วมในการลงประชามติได้ เพราะอดีต กกต.กำหนดกรอบว่าทำประชามติได้เฉพาะกลุ่มที่อยู่ในประเทศเท่านั้น

ก็มีกลุ่มนิสิต นักศึกษา จากหลายประเทศเข้ามาชี้แจงใน กมธ.ซึ่งเราได้บอกว่าสิ่งที่เขาต้องการไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ค่าใช้จ่ายในการเพิ่มจุดเลือกตั้งก็ไม่ได้มาก เป็นการแสดงจุดยืนอย่างหนึ่งให้ได้เห็นว่าเรายินดีเปิดรับ

  • หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามที่ประชาชนเรียกร้อง จะส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างไร?

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องไปแก้ไขกัน ซึ่งการแก้ไขแต่ละประเด็นต้องมีเหตุผล เราจะไปแก้ไขตามอำเภอใจใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ต้องดูว่าประเด็นไหนทำได้หรือทำไม่ได้ เพราะนี่คือรัฐธรรมนูญ จะไปฟังเฉพาะกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ได้ แต่ต้องรับฟังความเห็นที่หลากหลายมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีจุดบกพร่องหลายประเด็น แต่ก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา ไม่มีฉบับไหนสมบูรณ์ไปทุกอย่าง ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับการทำงาน เราก็พยายามรับฟังทั้งหมด ซึ่งกมธ.ก็ห่วงใยเรื่องนี้

สำหรับประเด็นการตั้ง ส.ส.ร.เมื่อตั้งได้แล้วเสร็จ ก็มีหน้าที่ไปกำหนดว่าต้องแก้ไขอะไรบ้าง อย่างไร

เรายังยืนยันว่าหมวด 1 หมวด 2 พรรคภูมิใจไทยยึดถือ และพูดเรื่องนี้มาตลอดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขได้ทุกเรื่อง หากมีเหตุผลเพียงพอ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2

  • รัฐบาลก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 มีเรื่องใดบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข หรือจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อให้อยู่ยาวจนครบวาระ 4 ปี?

ปัญหาสำคัญของรัฐบาลในตอนนี้คงหนีไม่พ้นการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกคนกำลังตระหนก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งพรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคที่คุมกระทรวงสาธารณสุขอยู่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรค พยายามทำงานเต็มที่ มีเหตุที่ไหนท่านไปหมด

พร้อมกับการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนให้ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย จะร่วมมือกันทำงานได้อย่างดี

ถ้าคุมโควิด-19 ได้จะช่วยได้หลายเรื่อง เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แม้แต่เรื่องอาหารการกิน คนก็กังวล ซึ่งน่าเห็นใจ รัฐบาลต้องออกมาช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง โดยมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

ผมเชื่อว่าถ้าประชาชนและหน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมือกันก็น่าจะไปได้ แต่ภาพรวมคิดว่ายังเหนื่อยอยู่ ทุกคนต้องเข้าใจอย่าตำหนิกัน เพราะรัฐบาลและหน่วยงานราชการเองก็พยายามทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะประชาชนการช่วยดูแลตัวเองให้ปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งหมดนี้จะช่วยเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ในส่วนการทำงานของพรรคภูมิใจไทยนั้นมีการประชุมพรรคอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ พยายามให้รัฐมนตรีของพรรคได้พูดคุยปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน รวมถึงส.ส.ที่เป็นกมธ.ได้อธิบายให้พรรคฟังว่ามีปัญหาหรือความคืบหน้าอย่างไรบ้าง ส่วนกฎหมายที่พรรคเสนอมา 10 กว่าฉบับในช่วงที่รณรงค์หาเสียง วันนี้เข้าสภาอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาแล้วหลายเรื่อง

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในอนาคต ต้องบอกว่าจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ก็ต้องการที่ยืนใน กทม.เช่นกัน ครั้งที่ผ่านมาส่งผู้สมัครส.ส.แข่งขันในกทม. แต่เราไม่ได้ส.ส.เลย ต้องมาดูกันว่าปัญหาอุปสรรคคืออะไร แม้แต่คะแนนรวมที่เราได้มา 5 หมื่นคะแนน ทั้งที่ตั้งเป้าไว้ 2 แสนคะแนน

ซึ่งในกทม.ค่อนข้างยากมากเพราะคู่แข่งเยอะตรงนี้จึงต้องมาคุยกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน