คอลัมน์ ใบตองแห้ง

รำลึกความเป็น “ฐากูร” – การจากไปของ “โต้ง ฐากูร บุนปาน” เป็นความสูญเสียครั้งสำคัญ ไม่ใช่แค่มติชน แต่ทั้งวงการสื่อ

ความรักอาลัยจากหลากหลายวงการ ตั้งแต่เพื่อนสื่อด้วยกัน เพื่อนร่วมรุ่น เพื่อนเตะบอล ไปจนนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว เป็นภาพสะท้อนชีวิต “โต้ง” ที่คบหาผู้คนอย่างกว้างขวาง แบบใจถึงใจ ตั้งแต่เป็นนักข่าวมาจนเป็นผู้บริหาร

ซึ่งมองมุมหนึ่งก็เป็นธรรมดา ที่จะต้องมีคอนเน็กชั่นกว้างขวาง เป็นผู้บริหารสื่อย่อมเคยนั่งจิบไวน์กับรัฐมนตรีหรือนายพล ที่อยากจะสร้างความสัมพันธ์ แต่จะมีสักกี่คนที่นั่งกินเหล้าเสวนากับนักวิชาการจนดึกดื่น หรือไปนั่งวิเคราะห์สถานการณ์ให้สมัชชาคนจนฟัง อย่างที่บารมี ชัยรัตน์ กล่าวถึง

มองแบบบ้านๆ การที่นักการเมืองมาร่วมไว้อาลัย ยกย่องสดุดี ก็แหงสิ มันจะเอาใจสื่อนี่หว่า ก็มีบ้างละ แต่ลึกลงไปในความเป็นจริง นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการ หรือแม้แต่ทหารตำรวจ ก็มักจะรู้จักมีความสัมพันธ์กับสื่อมายาวนาน 20-30 ปี ตั้งแต่ฝ่ายหนึ่งเพิ่งเริ่มเล่นการเมือง เพิ่งเริ่มมีตำแหน่งแห่งหน อีกฝ่ายเพิ่งเป็นนักข่าวภาคสนาม จนกระทั่งเป็นหัวหน้าข่าว บรรณาธิการ

ที่น่าทึ่งคือ “โต้ง” สามารถรักษาความสัมพันธ์หรือการคบหาเหล่านี้ไว้ได้ ในขณะที่ตัวเองและค่ายมติชนแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างชัดเจนว่า “อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่เอารัฐประหารสืบทอดอำนาจ ผ่านการเขียนบทความหรือโพสต์เฟซบุ๊กตั้งค่าสาธารณะ สนับสนุนม็อบคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน

ที่น่าทึ่งเพราะผมเองไม่ได้เติบโตมาอย่าง “โต้ง” ไม่เคยเป็นนักข่าวภาคสนาม ไม่เคยต้องรับภาระเป็นผู้บริหาร ที่ต้องคบหาคนทุกฝ่าย จึงประกาศตัวได้ไม่เกรงใจใคร ขณะที่ในทางตรงกันข้าม ผมก็เห็นสื่อจำนวนมาก in ไปกับพรรคการเมือง นักข่าวทหารจน in กับทหาร หรือผู้บริหารสื่อเกรงใจอำนาจจนลู่ตามลม

ไม่ทราบเหมือนกันว่า “โต้ง” มีศิลปะอย่างไร แต่เท่าที่ทราบทุกฝ่ายก็ยังพูดคุยกับเขา (แม้อาจยกเว้นพวกดัดจริตคบไม่ได้) มองโดยส่วนตัว ก็น่าจะเป็นความเปิดเผยตรงไปตรงมา บอกชัดๆ ว่าคิดอย่างนี้ จะยังคบกันหรือไม่ก็ตามใจ แต่ไม่เคยปฏิเสธใคร

นี่สำคัญสำหรับความเป็นสื่อ เพราะในการเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่าย ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ มันไม่มีหรอกคำว่า “เป็นกลาง” สื่อถือกำเนิดมาพร้อมกับเสรีภาพในการพูดเขียนแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย จึงมีแต่เลือกว่าจะเป็นสื่อที่ยืนหยัดในอุดมการณ์เสรีภาพ หรือเป็นสื่ออนุรักษนิยมสอพลอสุดขั้วสุดโต่ง สนับสนุนให้ใช้อำนาจปิดปากประชาชนไปเลย

พวกที่อ้างเป็นกลางถ้าไม่ดัดจริต ก็คือห้อยโหนหยวนยอมอำนาจผลประโยชน์ ซึ่งเอาเข้าจริงก็คบไม่ได้

นิตยสารสารคดีจึงยกคำให้สัมภาษณ์ของ “โต้ง” ตั้งแต่ปี 2542 มาย้อนให้อ่านกันใหม่

“การทำข่าวคือการนำเสนอความจริง กลางคือให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสแสดงเหตุผลข้อมูลทัศนะของตัวเองออกมาให้ครบถ้วนที่สุด เป็นเวทีสำหรับการแสดงข้อมูล ความคิดเห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเลือกจะไม่เชื่ออะไรเลย ไม่ใช่ เราอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เราก็ต้องเลือกเชื่อในสิ่งที่เราคิดว่ามันถูก ในสิ่งที่เราคิดว่ามันเป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่”

มองในอีกมุม การสูญเสีย “โต้ง” ก็ชวนให้นึกถึงการสูญเสีย “เจ๊ยุ” ยุวดี ธัญญสิริ “เจ้าแม่ทำเนียบ” บุคคลประวัติศาสตร์ของวงการสื่อ ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามตั้งแต่ฝึกงานจนเป็นผู้สื่อข่าวอาวุโส จนสามีเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม จนเกษียณ ก็ยังทำหน้าที่จนบั้นปลายของชีวิต ซึ่งจะไม่มีคนอย่างนี้อีกแล้วในโลกยุคใหม่

คนอย่าง “โต้ง” ที่เริ่มต้นจากผู้สื่อข่าวภาคสนาม จนเป็นหัวหน้าข่าว บรรณาธิการ ผู้บริหาร แม้คนนอกอาจมองว่าเพราะนามสกุล แต่เอาแค่คนที่เป็นนักข่าวจนเป็นบรรณาธิการ สั่งสมประสบการณ์อยู่ในสื่อหลักยาวนาน 30 ปี ก็น่าจะเป็นรุ่นท้ายๆ

เพราะภูมิทัศน์สื่อใหม่ ที่เคลื่อนย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ อาจไม่สร้างคนอย่างนี้อีกแล้ว แม้อาจจะสร้างนักคิดนักวิจารณ์ Influencer ปากกล้า พิธีกร แต่จะหาคนที่คร่ำหวอดจากการเป็นนักข่าวทำเนียบสภา จนมาเป็นรีไรเตอร์ หัวหน้าข่าว กลั่นกรองการนำเสนอให้น่าเชื่อถือ สั่งสมเครดิต ฯลฯ น่าจะยากแล้ว

รวมไปถึงสื่อที่รู้จักผู้คนกว้างขวาง ตั้งแต่เศรษฐีถึงคนจน นายพลถึงนักกิจกรรม นักการเมืองถึงนักวิชาการ นั่งร้านหรูก็ได้ นั่งร้านข้างทางก็ชอบ อย่างที่โต้งเป็น คงเห็นเป็นรุ่นท้ายๆ ถึงแม้จะเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัว

สื่อใหม่ให้ความหลากหลาย คล่องตัว ที่สำคัญคือให้เสรีภาพที่ปิดกั้นไม่ได้ แต่เราก็สูญเสียอะไรไปบางอย่าง

ใจหาย ที่จากกันในช่วงความเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อย “โต้ง” ก็ได้เห็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลง ดังที่เขาเขียนบทกวีประกอบภาพการชุมนุมใหญ่วันที่ 16 สิงหาคม

“…ก้าวตามสายรุ้งมุ่งหน้า เข็มนาฬิกาไม่กลับหลัง แรงใดเล่าระงับยับยั้ง ซากปรักหักพังแห่งเวลา ร่วมผ่านราตรีที่มืดสนิท ร่วมคิดร่วมฝันร่วมฟันฝ่า จูงมือกันกระชับรับทิวา ฟ้าใหม่เบิกฟ้าบัดนี้แล้ว”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน