FootNote:บทบาทเทคโนโลยีสื่อสมัยใหม่ ในการกำกับควบคุมการเมือง

ไม่เพียงแต่กรณีของ #พิมรี่พาย จะสะท้อนออกในเชิงเปรียบเทียบกับโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความสงบภายใน(กอ.รมน.)เท่านั้น

หากยังเลเพลาดพาดไปถึงการเคลื่อนไหวปลูกป่าในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ในห้วงระยะเดียวกันอย่างแหลมคมยิ่ง

เพราะไม่เพียงแต่โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะมีงบประมาณจำนวนกว่า 45 ล้านบาทมาเป็นเครื่องเคียง หากโครงการปลูกป่ายังมีงบประมาณกว่า 23 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน โครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์อาจมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเป็นพระเอก ขณะที่การปลูกป่ามี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับ นายฌอน หิรัญบูรณะ เป็นพระเอก

คำถามมิได้อยู่ที่โครงการโซลาร์เซลล์ดำเนินไปอย่างคุ้มทุนหรือไม่ เพียงใด หากแต่โครงการปลูกป่าเด่นชัดอย่างที่สุดว่าต้นไม้ที่ปลูกกันเมื่อเดือนมกราคมปีก่อนกลับกลายเป็นเครื่องประจาน

น่าสังเกตว่า ไม่ว่าต่อโครงการโซลาร์เซลล์ ไม่ว่าต่อโครงการปลูกป่า สื่อ”ออนไลน์”แสดงบทบาทเด่นในการตรวจสอบ เปิดเผย

แม้ว่าโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นเรื่องของกระทรวงพลังงาน จะเป็นการรับช่วงมาของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน(กอ.รมน.) ขณะที่การปลูกป่าเป็นเรื่องของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

แต่ทั้ง 2 งานสัมพันธ์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัมพันธ์กับการพัฒนาชนบท ช่วยเหลือประชาชน

เป็นการพัฒนาบนพื้นฐานแห่งการเมืองอย่างแนบแน่น

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่การประเมินงานในแต่ละโครงการนี้มิได้สะท้อนออกผ่านกระบวนการทางการเมือง ตรงกันข้าม เป็นการสะท้อนออกผ่านกระบวนการภาคประชาชน

โครงการโซลาร์เซลล์กลายเป็นประเด็นจาก#พิมรี่พาย โครงการปลูกป่ากลายเป็นประเด็นจากเอ็นจีโอในพื้นที่

คำถามก็คือ ส.ส.และส.อบต. ส.อบจ.ในพื้นที่ทำไมไม่ติดตาม

กล่าวในทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ บทบาทของอินเตอร์เน็ตได้แทรกซึม เข้าไปแทบในทุกพื้นที่ของประเทศ มีบทบาทในการตรวจสอบอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง

บทบาทนี้ไม่เพียงแต่กำลังสำแดงอิทธิพลเหนือสื่อเก่าทุกสื่อ

หากที่แหลมคมเป็นอย่างมากก็คือ กำลังเป็นเครื่องมือของภาคประชาชนในการเกาะติดตรวจสอบทุกการเคลื่อนไหวของสังคม

เครื่องมือนี้กำลังมีบทบาทมากกว่า”นักการเมือง”ด้วยซ้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน