คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

2 ชาติก้าวพลาด : ปฏิกิริยาที่นานาประเทศมีต่อการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ล้วนแสดงออกในทางลบ ทั้งประณาม ตำหนิ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวสมาชิกรัฐบาลพลเรือนโดยทันที

เพราะการกระทำนี้ชัดเจนว่าบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย หยุดยั้งการพัฒนา และเชื่อว่าจะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามมาอีกเป็นระลอก

สื่อมวลชนชาติตะวันตกตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ชาติสมาชิกอาเซียนที่จะกระอักกระอ่วนมากที่สุดในสถานการณ์นี้คือ ประเทศไทย

เพราะเดินนำบนเส้นทางนี้อยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารปี 2557

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากสำหรับฝ่ายรัฐบาลที่จะพูดถึงเหตุการณ์และการตัดสินใจของกองทัพเมียนมา

ความเห็นของไทยต่อเหตุรัฐประหารเมียนมา ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกฝ่ายค้าน นักวิชาการ และภาคธุรกิจ

ส่วนบุคคลในรัฐบาลต่างไม่ได้แสดงความเห็น นอกจากกล่าวว่าเป็นเรื่องภายในของประเทศเพื่อนบ้าน

ท่าทีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลยังมีความเชื่อมโยงกับคณะปกครองในยุครัฐประหาร จึงยากที่จะพูดถึงรัฐประหารและผลกระทบจากรัฐประหารในแง่ร้าย

ข้ออ้างที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจอ้างถึงผลการเลือกตั้งว่าเป็นที่กังขา ส่วนกองทัพไทยอ้างถึงความวุ่นวายและความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้องเข้าแทรกแซง

แต่ประเด็นที่ชัดเจนของทั้งสองประเทศคือกองทัพไม่อดทนกับการถ่วงดุลอำนาจกับรัฐบาลพลเรือน และไม่สนใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการรักษาประชาธิปไตยหรือไม่

ช่วงเวลาจากนี้ไปจึงจะเป็นความยากลำบากของประชาคมอาเซียนที่จะต้องเจรจากับประชาคมโลก

เพราะมีถึง 2 ประเทศแล้วที่หักหาญสิทธิของประชาชนและระบอบประชาธิปไตย

เรื่องที่น่าหวั่นใจคือผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อปัญหาปากท้องหรือเศรษฐกิจของทุกประเทศ
การถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มจะตึงเครียดยิ่งขึ้นและ ขัดแย้งยิ่งขึ้น

ประเทศที่เคยเป็นดาวเด่นที่ดึงดูดการลงทุนจะพลิกเป็นภาระของอาเซียนเพราะการเดินพลาดครั้งนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน