รายงานพิเศษ

ซ่อมส.ส.นคร-ผลกระทบซักฟอก? : ประเด็นการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อมส.ส. เขต 3 นครศรีธรรมราช เป็นอีกปมความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำรัฐบาล กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ 2 พรรคไม่ลงรอยกัน

ที่สำคัญคือครั้งนี้ มาปะทะคารมกันในช่วงที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ความขัดแย้งดังกล่าวจะส่งผลต่อศึกซักฟอกครั้งนี้อย่างไรบ้าง

ยุทธพร อิสรชัย

คณะรัฐศาสตร์ มสธ.

การที่รัฐบาลส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 3 นครศรีฯ แข่งกันเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก ก่อนหน้านี้เคยเห็นหลายพื้นที่ ฝ่ายค้านก็เคยส่งแข่งขันกันเอง หรือพรรคร่วมรัฐบาลส่งแข่งกันเองก็มี แต่ที่สังคมสนใจเพราะเป็นช่วงใกล้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

จ.นครศรีฯ เป็นฐานเสียงอันยาวนานและแข็งแกร่งของพรรคประชาธิปัตย์มาไม่น้อยกว่า 30 ปี ฉะนั้นประชาธิปัตย์คงไม่ทิ้งฐานเสียงที่นครศรีฯ ขณะเดียวกัน ก็เกี่ยวข้องกับการเป็นตระกูลใหญ่อย่างตระกูลเสนพงษ์ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลว่าประชาธิปัตย์จะไม่ส่งผู้สมัครนั้นเป็นไปได้ยาก

แต่เลือกตั้งในปี 2562 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในภาคใต้เช่นเดียวกัน ภาคใต้ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายพื้นที่ และส่งผลให้ประชาธิปัตย์มีคะแนนแบบฟันหลอ ภาคใต้จึงกลายเป็นพื้นที่ใหม่ทางการเมืองที่หลายพรรคหมายปอง พลังประชารัฐก็ต้องการขยายฐานเสียงในภาคนี้เหมือนกัน

ดังนั้น ประเด็นเลือกตั้งซ่อมส.ส.นครศรีฯ เป็นเรื่องปกติทางการเมือง และเป็นเรื่องที่นักการเมืองเข้าใจได้ หากแต่ประเด็นที่คิดว่ามีน้ำหนักและน่าสนใจมากกว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ

อย่าลืมว่า การอภิปรายฯครั้งก่อน ร.อ.ธรรมนัสได้คะแนนโหวตไว้วางใจน้อยที่สุด สาเหตุก็มาจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งไม่โหวตให้ เป็นการโหวตสวนมติพรรค

ครั้งนี้เป็นไปได้ที่จะมีการเอาคืนจากส.ส.ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส โดยครั้งนี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ถูกอภิปรายด้วย รวมทั้งนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ส่วนประชาธิปัตย์จะโหวตแบบไหนคงมีในใจ

แต่อย่างไรเสีย การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงไม่ถึงขั้นทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกหัก หรือเกิดปัญหาในพรรคร่วม เพราะสัญญาณภาพรวมยังคงเดินหน้าไปได้ และประชาธิปัตย์เองยังต้องการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป ฉะนั้นจะยังไม่เห็นการถอนตัวง่ายๆ

พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาร่วมรัฐบาล มีภารกิจ 2 อย่าง 1.ร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างผลงาน สร้างพื้นที่ทางการเมือง 2.ต้องการฟื้นฟูความนิยมและความเชื่อมั่นในพรรคให้กลับคืนมา

ท่าทีที่แสดงออก จึงให้แกนนำพรรคสนิทสนมกับนายกฯและแกนนำรัฐบาล ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดกรณีกระทบสังคม ลูกพรรคอีกส่วนหนึ่งก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จึงเป็นท่าทีทั้งดึงทั้งผลัก ต้องทำตามรัฐบาลขณะเดียวกันก็มีจุดยืนของพรรคระดับหนึ่ง

เมื่อมองไปยังฝ่ายค้าน การยื่นญัตติครั้งนี้จะเห็นว่าฝ่ายค้านมองการอภิปรายเป็น 2 มิติ ประเด็นแรก สะท้อนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ดังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ สังคม และด้านความมั่นคงจึงถูกอภิปรายหมด

ส่วนอีกมิติคือมองเรื่องยุทธศาสตร์การเมือง เพราะมีการอภิปรายปูพรมไปยังพรรคร่วมรัฐบาล ต่างจากครั้งที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลหลักๆ โดนหมด รวมถึงบุคคลที่เป็นสายล่อฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ ทั้งที่รมว.เกษตรฯ ไม่โดน หรือแม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สะท้อนว่าฝ่ายค้านเห็นว่าพวกสายล่อฟ้าเรียกแขกได้ และอาจสานต่อไปยังประเด็นอื่นๆได้อีก

สรุปแล้วการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อาจได้เห็นการโหวตของ ส.ส.ประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้โหวตตามมติพรรค และเช่นกันอาจได้เห็นส.ส.พลังประชารัฐบางส่วนที่ไม่โหวตตามมติพรรค

ในส่วน พล.อ.ประวิตร แม้เป็นคนชี้ขาดเรื่องการส่งผู้สมัครลงซ่อมที่นครศรีฯ แต่ยังเชื่อว่าคะแนนโหวตที่ออกมาจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะระดับพล.อ.ประวิตร ไม่ธรรมดาแน่

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การเลือกตั้งซ่อมที่จ.นครศรีฯ จะมีผลกระทบต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะจะกลายเป็นบรรยากาศของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรกัน และเป็นความไม่เป็นมิตรที่พรรคพลังประชารัฐมีต่อพรรคร่วมรัฐบาลมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

พลังประชารัฐมีการกระทบกระทั่งกับพรรคร่วมรัฐบาลมาตั้งแต่ตอนเริ่มตั้งรัฐบาล ชวนพรรคภูมิใจไทยเข้ามาก็มีการโพสต์ข้โจมตีนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคประชาธิปัตย์ก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน

เพราะไม่ได้เป็นการตั้งรัฐบาลในสถานการณ์ปกติ แต่เป็นการตั้งรัฐบาลที่พรรคพลังประชารัฐรู้ว่าเขามี 250 ส.ว.อยู่ในมือ การทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลจึงเป็นไปแบบไม่ค่อยเกรงใจ ไม่เหมือนพรรคแกนนำรัฐบาลในอดีตที่จะมีลักษณะของการโอนอ่อนมากกว่านี้

และไม่เคยมีพรรคแกนนำยุคไหนที่มีท่าทีกับพรรคร่วมแบบไม่เป็นมิตรเท่าพลังประชารัฐ ดังนั้น เมื่อไรที่ไม่มี 250 ส.ว.หนุนหลัง โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลอีกก็ลำบาก ดังนั้น มองต่อไปถึงการแก้การแก้รัฐธรรมนูญ พลังประชารัฐไม่น่าจะยอมให้มีการแก้โดยง่าย

อีกทั้งท่าทีของพลังประชารัฐในการโจมตีประชาธิปัตย์นั้นล้ำเส้นเยอะ เช่น บอกว่าประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเพราะโกง คนเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่กล่าวหากันลักษณะนี้ ถ้าไม่มีหลักฐานจริงๆ เพราะถ้าโกงกันจริงทำไมพลังประชารัฐไม่ไปแจ้งความ

ท่าทีของพล.อ.ประวิตร ที่ไม่สนใจพรรคประชาธิปัตย์เลยนั้น สะท้อนความมั่นใจของพลังประชารัฐว่าถึงอย่างไรเขาก็เป็นรัฐบาลได้แน่ และไม่มีใครกล้าถอนตัว เพราะล็อกด้วย 250 ส.ว. และไม่มีใครสามารถตั้งรัฐบาลแข่งได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครดึง 250 ส.ว.ไปหนุนได้

ขณะที่การแสดงท่าทีกลับไปของประชาธิปัตย์ ยังไม่สามารถมีอะไรได้ เพราะไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองแบบปกติ เพราะพรรคหนึ่งมี 250 ส.ว.อยู่ในมือ ไม่ได้เอาจำนวนผู้แทนฯแต่ละพรรคมาต่อรองแบบตรงไปตรงมา จึงเป็นการอยู่ร่วมกันแบบเป็นน้ำใต้ศอกไปเรื่อยๆ

ทั้งที่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่หลีกให้กันในการเลือกตั้งซ่อม ที่ประชาธิปัตย์ยกมาอ้างจึงก็มีเหตุผลเพราะเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาจริงๆ ฝ่ายค้านก็ทำกัน พรรคประชาธิปัตย์จึงสามารถพูดได้

ส่วนผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล การกระทบกระทั่งยังเป็นในระดับปลีกย่อย ระดับส.ส. ส่วนระดับรัฐมนตรีคงไม่มีปัญหาใดๆ เพราะคนได้เป็นรัฐมนตรี เป็นแล้วก็อยากเป็นต่อ ไม่ได้สนใจอะไรอยู่แล้ว

ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับพรรคอื่นคิดว่าอาจมีปฏิกิริยาตอบโต้มากกว่านี้ แต่เมื่อเป็นพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ไม่ใช่บุคคลที่กล้าชนพรรคอื่น ก็จะเพลย์เซฟ และเป็นปัญหาแบบที่เห็นนี้

พรรคประชาธิปัตย์ต้องโชว์ความเป็นผู้นำให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะนายจุรินทร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคมาปีกว่าแล้ว แต่การสร้างความเป็นผู้นำในพรรคหรือความเป็นผู้นำในรัฐบาลยังไม่ทำให้คนเขาเกรงใจได้

ส่วนการเลือกตั้งซ่อมที่นครฯ ศึกครั้งนี้จะวัดกันระหว่างประชาชนในพื้นที่กับกลไกรัฐ ถ้าประชาธิปัตย์ระดมคนในพื้นที่ได้เยอะก็ชนะ แต่ถ้าระดมได้น้อยปัจจัยเรื่องอำนาจรัฐซึ่งคราวนี้น่าจะเยอะเพราะพลังประชารัฐคงจัดเต็มแน่นอน พรรคประชาธิปัตย์น่าจะเหนื่อย

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

การเลือกตั้งซ่อมส.ส.เขต 3 จ.นครศรีฯ จะไม่กระทบการอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน เพราะประชาธิปัตย์ไม่มียุทธศาสตร์อื่นนอกจากเกาะบุญพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปเรื่อยๆ การแสดงท่าทีไม่พอใจก็ไม่มีอะไรในกอไผ่ ประชาธิปัตย์จะเป็นเด็กดีว่าง่ายของพลังประชารัฐตลอดไป

วันนี้กระแสการเมืองมีอยู่ 2 วงหลัก 1.สายก้าวหน้า มีข้อเสนอเชิงนโยบายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง การบริหารจัดการภาครัฐ และ 2.วงที่ยังยึดมั่นในความสำเร็จเดิมๆ ประเพณีวัฒนธรรมแบบเดิมๆ

ปัญหาของประชาธิปัตย์คือจะเดินไปสายก้าวหน้าก็ไปไม่สุด จึงต้องอยู่กับฐานอำนาจแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังหาทิศทางที่ชัดเจนของพรรคไม่ได้ ก็จะไม่เป็นปัญหากับพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างแน่นอน แตกต่างจากภูมิใจไทยที่ชัดเจนว่าเกาะแนวทางเดียวกับพลังประชารัฐ คือ จุดยืนอนุรักษนิยม

ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงคิดว่าการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีฯ จะไม่ส่งผลให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีปัญหาแต่อย่างใด ประชาธิปัตย์จะไม่สร้างปัญหาอะไรให้พลังประชารัฐทั้งสิ้น วันนี้ประชาธิปัตย์ไม่พร้อมเลือกตั้งใหม่เพราะไม่รู้จะได้กี่ที่นั่ง สัมพันธ์กับแนวทางที่ไม่ชัดเจนของพรรค จึงเพลย์เซฟเป็นรัฐบาลไปเรื่อยๆ

การอ้างเรื่องมารยาททางการเมืองเป็นแค่จริตของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากยึดถือแนวทางธรรมเนียมปฏิบัติก็ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาลได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอการอภิปราย เพราะพลังประชารัฐชัดเจนอยู่แล้วว่าส่งแน่

วันนี้ พลังประชารัฐมีความชัดเจนว่าเขาเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และมีจุดยืนแบบนี้ชัดเจน ขณะที่ประชาธิปัตย์พอออกกระบวนท่าทางการเมืองแล้วไม่ได้รับการตอบสนอง สิ่งที่ประชาธิปัตย์จะแสดงออกแล้วสง่างามที่สุดวันนี้ คือถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เดินไปบอกนายกฯ ว่าไม่ร่วมรัฐบาลแล้วก็จบ

แต่เชื่อว่าประชาธิปัตย์ไม่กล้าทำเพราะวันนี้ก็ไม่อยากเลือกตั้ง และคนของพรรคที่ได้รับตำแหน่งในฝ่ายบริหารก็ยังรู้สึกสบายดี ดังนั้น การตัดสินใจทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ ข่าวต่างๆ ที่ออกมาเป็นเพียงกระบวนท่าเท่านั้น เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเหมือนน้ำยาบ้วนปาก

พลังประชารัฐเสียอีกที่แสดงบทบาทใชัดเจนว่าส่งคือส่ง แล้วก็แสดงให้เห็นว่ามั่นใจว่าตัวเองมีอำนาจ ส่วนประชาธิปัตย์นั้นการกระทำแบบนี้ยิ่งทำให้พื้นที่ในใจของคนรุ่นใหม่ต่อพรรคยิ่งแย่ลงไปอีก

สรุปได้เลยว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปมปัญหา ไม่กระทบเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน และหากพรรคภูมิใจไทยจะร่วมวงส่งผู้สมัครลงแข่งด้วยก็คิดว่าไม่ได้เสียหายอะไร เพราะภูมิใจไทยไม่ได้มีจริตทางการเมืองแบบประชาธิปัตย์มาตั้งแต่ต้น ภูมิใจไทยไม่เคยออกมาบอกเลยว่าพรรคร่วมรัฐบาลแข่งขันกันไม่ได้

ลักษณะการตัดสินใจทางการเมือง ภูมิใจไทยกับพลังประชารัฐคล้ายกัน แนวคิดเหมือนกัน และวันนี้ในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐกับภูมิใจไทยเป็นพรรคที่พร้อมเลือกตั้ง มีประชาธิปัตย์พรรคเดียวที่ไม่พร้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน