FootNote:แนวโน้มใหม่ของการปรับครม. เป็นปรับ”ใหญ่” มิใช่ปรับ”เล็ก”

มีการเคลื่อนไหว 2 การเคลื่อนไหวนอกเหนือจากการเคลื่อนไหวภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่จะส่งผลให้กระบวนการปรับครม.เพิ่ม ความยุ่งยาก สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

1 คือ การเคลื่อนไหวของพรรคขนาดเล็กที่ต้องการตำแหน่ง 1 คือ การยอมรับจากพรรคภูมิใจไทยว่าอาจมีการสลับตำแหน่ง

ไม่ว่าการเคลื่อนไหวของพรรคขนาดเล็ก ไม่ว่าการเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐ ล้วนมีผลสะเทือนไม่เพียงแต่ต่อพรรคภูมิใจไทย หากแต่ยังกระทบพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

เพราะว่าเมื่อเป็นการเคลื่อนไหวของพรรคขนาดเล็กนั่น หมายถึงการนำเอา”ปริมาณ”มาเป็นเครื่องต่อรองและนำไปสู่การเปรียบเทียบอันแหลมคม

การเคลื่อนไหวนี้ทำให้จำเป็นต้องมองการขยาย”ปริมาณ”ภาย ในพรรคภูมิใจไทยจาก 51 ส.ส.เมื่อเดือนมีนาคม 2562 ทะยานขึ้นสู่ จำนวน 61 ส.ส.ในเดือนมีนาคม 2564

ปัจจัยนี้จะทำให้หลักการแบ่งสันปันส่วนตำแหน่งทางการเมืองจำเป็นต้องมีการรื้อและตกลงกันใหม่

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าข้อตกลงในเรื่องสัดส่วนและโควต้าในคณะรัฐมนตรี ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันมาจากข้อตกลงเมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ในการขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือเป็นข้อตกลงจากผลการเลือกตั้งอย่างเป็นการทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ซึ่งปรากฏออกมาโดยพื้นฐานว่าพรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. 115 คน พรรคประชาธิปัตย์ 52 พรรคภูมิใจไทย 51 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5

แต่เมื่อมาถึงเดือนมีนาคม 2564 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้พรรคพลังประชามี 121 พรรคภูมิใจไทย 61พรรคประชาธิปัตย์ 52 พรรคชาติไทยพัฒนา 12

คำยืนยันที่ว่าจะยืนตามข้อตกลง”เดิม”จึงเกิดความหวั่นไหว

เป็นความหวั่นไหวที่พรรคภูมิใจไทยระบุออกมาเองว่า อาจมีการสลับสับเปลี่ยนกระทรวงของแต่ละพรรคการเมือง

แนวคิดในเรื่องการสลับสับเปลี่ยนกระทรวงจากข้อตกลงเดิมนี้เอง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การปรับครม.ครั้งนี้มิได้เป็นการปรับเล็กเพียง 3 ตำแหน่ง

ดังนั้น ที่มีความเชื่อว่ากว่าจะเรียบร้อยก็ปลายเดือนมีนาคม และต้นเดือนเมษายนจึงมีความเป็นไปได้สูงยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน