บทบรรณาธิการ : บางกลอยยกระดับ

บางกลอยยกระดับ : การปักหลักชุมนุมของกลุ่มภาคีเซฟบางกลอย พร้อมด้วยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และกลุ่มเดินทะลุฟ้า เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ

เพราะเกิดกระบวนการเรียนรู้ในกลุ่มคนเมืองที่เริ่มเข้าใจวิถีชีวิตชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มากขึ้น เข้าใจที่มาที่ไปการต่อสู้ของชาวบ้านที่อยากกลับพื้นที่บ้านเกิดมากขึ้น

หลังจากปัญหานี้ลากยาวมาเกิน 20 ปี และเกิดคดีอุ้มฆ่านักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง บิลลี่ พอละจี ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปีจึงเริ่มมีความคืบหน้าด้านการสอบสวน

จนถึงขณะนี้ปัญหาของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่แทบไม่มีใครได้ยินเสียง กลายเป็นประเด็นระดับประเทศ

ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบ้านบางกลอยยกระดับขึ้น ไม่ได้มาจากการเดินทางมาชุมนุมถึงพื้นที่ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ เท่านั้น

หากเป็นความชัดเจนของปัญหาที่สะท้อนว่า มีชาวบ้านที่ขาดโอกาสและมีเสียงที่สื่อสารมายังส่วนกลางได้น้อยที่สุด ตอกย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันของคนในประเทศ

เมื่อสอดคล้องกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายราชการและรัฐบาลที่ถูกวิจารณ์เรื่องสองมาตรฐาน ยิ่งทำให้แนวร่วมกะเหรี่ยงบางกลอยขยายตัวมากขึ้น

ปัญหาอยู่ที่ว่า นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะมีท่าทีต่อชาวบ้านอย่างไร เมื่อประเด็นนี้เป็นข้อขัดแย้งกับฝ่ายข้าราชการมาโดยตลอด

ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งคดีอุ้มฆ่า บิลลี่ พอละจี คดีเผาบ้านไล่ที่ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่อาศัยในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จนมาถึงการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านที่พยายามจะกลับพื้นที่เดิม การให้ข่าวสร้างความเข้าใจผิดต่อชาวบ้าน ล้วนเป็นเรื่องที่บ่งบอกว่าคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านคือใครและทำอะไรอยู่

แม้ฝ่ายการเมืองจะมีท่าทีที่อ่อนลง และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคลี่คลายปัญหา แต่สิ่งที่คนในสังคมเฝ้ามองอยู่คือการตัดสินใจของผู้มีอำนาจและผู้รับผิดชอบทางการเมือง

จะเลือกความเท่าเทียมและปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะคนไทยด้วยกันหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน