รีสตาร์ตแก้รธน. – ภายหลังรัฐสภาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็นผลมาจากการผนึกกำลังของ ส.ว. และพรรคพลังประชารัฐ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มกระบวนการจนเข้าสู่การพิจารณา วาระ 3 จึงต้องไปนับหนึ่งกันใหม่

การเริ่มกระบวนการแก้ไขครั้งนี้ ต้องขับเคลื่อนกันอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขเกิดผลเป็นรูปธรรม

พริษฐ์ วัชรสินธุ

แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า

น่าเสียดายเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถูกปัดตก ซึ่งตอบโจทย์ที่ส.ว. และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลส่วนหนึ่งพยายามยื้อเวลา มีกระบวนการยื้อต่างๆ ตั้งแต่มีการยื่นตีความ มาจนถึงการแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยเรื่องการทำประชามติก่อนเสนอร่างแก้ไข

ส่วนตัวมองต่าง คำวินิจฉัยให้ไปทำประชามติได้หลังผ่านวาระ 3 ซึ่งเชื่อว่าประเด็นนี้ยังไม่จบ แต่จะเป็นโจทย์ที่มีการถกเถียงกันอย่างมากต่อไป ที่สำคัญ ขบวนการนี้เกิดจากแรงสนับสนุนของส.ส.เสียงข้างน้อยในสภา ผู้แทนฯ ไปร่วมมือกับส.ว. คว่ำส.ส.เสียงข้างมากในสภา

การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจากนี้ ต้องเสนอญัตติทั้งการจัดทำร่างใหม่ทั้งฉบับและการจัดทำรายมาตรา โดยต้องทำทันทีเมื่อเปิดสภาสมัยหน้าและทำควบคู่กัน ซึ่งรัฐบาลอาจเป็นผู้เสนอญัตติเอง สมาชิกรัฐสภา หรือภาคประชาชนเข้าชื่อกัน 5 หมื่นรายชื่อเสนอได้ทั้งนั้น

โจทย์ที่เคลียร์และทำได้ทันทีไม่ต้องรอทำประชามติ คือการแก้ไขรายมาตรา ส.ว.ไม่สามารถอ้างอะไรได้อีก เพราะจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนทำได้ทันที

ส.ว.ไม่สามารถนำวาทกรรม ‘ตีเช็คเปล่า’ ให้กับส.ส.ร.มาอ้างได้อีก ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับคำนี้ เพราะไปสร้างความหวาดกลัวว่าการตั้ง ส.ส.ร.จะมาล้มล้างการปกครอง มันเกิดไม่ได้อยู่แล้ว อีกทั้งที่ผ่านมา หมวด 1, 2 และในอีก 38 มาตรา การยกร่างใหม่ไม่เคยบล็อกห้ามแก้ มีการแก้ไขมาตลอด

เป้าหมายของเราคือการยกร่างฉบับใหม่ แต่แม้ไม่มีการสกัดกั้นก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี แต่ถ้าเราเฝ้ารอเวลา ระหว่างนี้หากมีการยุบสภา ส.ว. 250 คน ก็ยังเลือกนายกฯ แต่งตั้งองค์กรอิสระได้อยู่ ความวิปริตบิดเบือนทางการเมืองยังอยู่

ดังนั้น การแก้ไขรายมาตราต้องทำเลย เพราะการแก้รายมาตราจะเป็นการปลดอาวุธของ คสช. ถ้าไม่ปลดอาวุธการยกร่างใหม่จะไม่เกิด เพราะอาวุธเหล่านั้นยังทำงานได้ จึงต้องปลดอาวุธคสช.ก่อน

ซึ่งมีอาวุธ 3 อย่างในการสืบทอดอำนาจของคสช. ที่สัมพันธ์กับการดำรงอยู่ของ ส.ว. อาวุธ 3 ชนิด ประกอบด้วย

1. ส.ว. มีอำนาจโหวตนายกฯ ตั้งองค์กรอิสระ การปลดอาวุธที่ 1 คือยุบวุฒิสภา ให้เป็นแบบสภาเดี่ยว

2. ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และที่มาองค์กรอิสระได้รับการรับรองโดย ส.ว.ชุดปัจจุบันที่แต่งตั้งโดย คสช. ต้องมีการปฏิรูปสะสาง รีเซ็ตที่มาองค์องค์กรอิสระใหม่หมด อาจไม่ถึงขั้นยุบแต่ปฏิรูปที่มาก็ได้

3. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนไว้ว่าถ้าไม่ทำตามจะถูกลงโทษ เราอาจไม่เห็นมีการงัดอาวุธนี้มาใช้เพราะวันนี้ยังบริหารโดยรัฐบาลคสช. แต่ถ้ามีรัฐบาลอื่น ยุทธศาสตร์นี้จะถูกหยิบยกมาเล่นงานรัฐบาลฝ่ายตรงข้าม

การเมืองจะเดินต่อได้ต้องหยุดการสืบทอดอำนาจ คสช.หรือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะไปได้ต้องปลดอาวุธเหล่านี้ ซึ่งทำได้ผ่านการยื่นแก้ไขรายมาตราเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ถ้ารัฐบาลไม่เสนอประชาชนก็ต้องเข้าชื่อกัน

ทั้งนี้ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้ากับคณะก้าวหน้า ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในนามกลุ่ม Resolution เราเห็นตรงกันเรื่องการปลดอาวุธ คสช. พร้อมทั้งการคิดแคมเปญล่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา หากรวบรวมได้เพียงพอและสร้างความตื่นตัวได้ จะปลดอาวุธคสช.ได้

อนุสรณ์ ธรรมใจ

เลขาธิการคณะกรรมการอำนวยการ
และประธานกก.บห.ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย

การแก้รายมาตราหรือการยกร่างใหม่ทั้งฉบับต้องขับเคลื่อนไปหลายๆ ทางพร้อมๆ กัน เพราะเป้าหมายของเรา คือ ต้องการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสืบทอดอำนาจ คสช.กึ่งประชาธิปไตย เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

ระบอบการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาร่วม 89 ปี อยู่ภายใต้ร่มเงาของระบอบอำนาจนิยมเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีเป้าหมายสืบทอดอำนาจแล้ว โอกาสการพัฒนาการประชาธิปไตยจะก้าวหน้าขึ้นเป็นไปไม่ได้

ฉะนั้น ต้องปลดล็อกตรงนี้ก่อน หากไม่ปลดล็อกก็ไปต่อไม่ได้ ทางที่ดีที่สุด คือ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือร่างใหม่โดยประชาชนผ่าน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต้องไปทำประชามติก่อนว่าประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วย หรือไม่ หากเอาด้วยก็เดินหน้า

หากร่างใหม่ไม่ได้ก็ให้แก้รายมาตรา โดยเริ่มตั้งแต่ 1.แก้ไขระบบเลือกตั้งและที่มาของสมาชิกรัฐสภา ควรกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้งแบบปี 40 บัตรสองใบ คือ เลือก ส.ส. เขต กับ เลือกพรรคจากบัญชีรายชื่อ ระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมั่นคง เมื่อพรรคการเมืองเข้มแข็งย่อมทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงในระยะยาว

2.ให้อำนาจประชาชนในการเลือกรัฐบาล แก้ไขที่มาของรัฐบาล และนายกฯมาจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่นายกฯ มาจากการเลือกของ ส.ว. ซึ่งไม่ได้ยึดโยงประชาชน หรือ ยกเลิก ส.ว.แต่งตั้ง หากจะมี ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 3.ออกแบบองค์กรอิสระใหม่ ต้องมาจากประชาชน

4.ทำให้เกิด Rule of Law มีมาตรา ซึ่งกำหนดให้การนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารไม่สามารถทำได้ เพราะผิดหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง 5.เคารพหลักการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคเท่าเทียม ตัดมาตราที่ส่อละเมิดหลักการดังกล่าว

6.ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปเป็นเรื่องของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ ไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าด้วยคนไม่กี่คน 7.แก้ถอนบทเฉพาะกาลที่มีปัญหา แก้ไขยกเลิกการให้ข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมือง

เราอยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ จะเดินหน้าเป็นแบบเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือพม่ากับเขมร ก็คือช่วงเวลานี้ ดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทำให้เกิดกระแสเช่นเดียวกับการเกิดของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540

ต้องแก้ไขรายมาตราที่มีเนื้อหาขัดแย้งหลักธรรมาภิบาลและประชาธิปไตย เอาออกไปก่อน ส่วนการร่างใหม่ทั้งฉบับต้องลงประชามติถามประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะเอาอย่างไร

ทั้งนี้ การแก้รายมาตรา เมื่อเปิดสมัยวิสามัญสามารถทำได้ทันทีในเดือนเม.ย. แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรควุฒิสภา จะเอาด้วยหรือไม่ คงอยากแก้เฉพาะมาตราที่เขาได้ประโยชน์ มาตราที่ขัดแย้งกับเนื้อหาประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาลอาจไม่ใช่เรื่องที่ผู้อยู่ในอำนาจสนใจ เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์จากกติกาที่บิดเบี้ยวนี้ กระทั่งหลุดปากพูดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาเพื่อพวกเขา

ทั้งนี้ การแก้รายมาตราจะใช้เวลาเร็วที่สุด ไม่เกิน 2-3 เดือน สามารถดำเนินการได้เลย หากพรรคพลังประชารัฐและพรรควุฒิสภาจะเห็นแก่ประโยชน์และอนาคตประเทศ

ส่วนการแก้ทั้งฉบับต้องกำหนดกรอบเวลาให้ชัด ซึ่งสามารถดำเนินการให้ได้ภายใน 2 ปี คร่าวๆ จะใช้เวลาดังนี้ คือ ได้ข้อสรุปในการจัดทำประชามติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศไทย ภายใน ก.ค.2564 การเลือกตั้งและการสรรหา ส.ส.ร. กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค. 2564

สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญและจัดทำยุทธศาสตร์และแผนการปฏิรูประเทศให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพ.ค. 2565 และจัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนภายใน ธ.ค.2565

หากถามถึงโอกาสเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ผมเชื่อมั่นในพลังของประชาธิปไตย ที่สุดแล้วประชาชนต้องชนะ ประชาธิปไตยของประชาชนจะถูกสถาปนาขึ้น และประชาชนคือเจ้าของประเทศ ที่ได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ให้เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้

โคทม อารียา

ประธานอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย

วันนี้ผมรู้แจ้งชัดแล้วว่า ผู้มีอำนาจมีประสงค์จะเสริมอำนาจให้ตัวเองมากกว่าปล่อยอำนาจกลับสู่ประชาชน และได้ข้อสรุปส่วนตัวว่าไม่อยากให้ถูกหลอกอีกแล้ว และจะไม่ไปเดินตามเกมของเขา

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากนี้ที่มีทั้งข้อเสนอแก้รายมาตรา หรือจัดทำฉบับใหม่นั้น ให้ผู้มีอำนาจว่ากันไป รัฐบาลมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบถ้วนกว่า แต่เมื่อไรสิ่งที่เขาทำไม่ได้เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน แต่เป็นการรักษาอำนาจให้อยู่นานๆ เรามีหน้าที่เปิดโปง ชี้แจงให้เห็นข้อเท็จจริง

ทำได้แค่ไหนแค่นั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่นิ่งเฉย ท้อแท้ หรือเอาแต่คัดค้าน ยังมีหน้าที่ต่อสังคม หน้าที่ในทางวิชาการ เป็นหน้าที่ในการสื่อสารต่อไปว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่คนส่วนรวม ทำอย่างไรที่เป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น

ส่วนรัฐบาลจะเล่นบทบาทอะไรก็เล่นไป เพราะเล่นมา 2 ปีแล้วจู่ๆ ก็เลิกเล่น ให้กลับมาตั้งต้นใหม่ จากนี้ก็ตามสบาย เพราะเรารู้แล้ว เขาบอกจะตั้งส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง ตอนนี้เราไม่เชื่อแล้ว ไม่เล่นตามบทของเขา

เราจับตาบ้าง ศึกษาบางประเด็นและสร้างความเห็นพ้องในประเด็นเหล่านั้น เช่น เรื่องการตรวจสอบอำนาจรัฐที่ตอนนี้ตรวจสอบไม่ได้ หรือตรวจสอบได้ก็เป็นการตรวจสอบเพื่อผู้มีอำนาจ, ระบบเลือกตั้งที่เหมาะสม, การถ่ายโอนอำนาจ หรือประเด็นอื่นๆ ผมจะขายความคิดต่อไป

ต่อข้อเสนอให้ยุบวุฒิสภาโดยมีสภาเดี่ยว ส่วนตัวผมมองว่าต้องดูทั้งระบบ อาจจำเป็นต้องให้วุฒิสภามาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย คัดเลือกบุคคล แต่ไม่ได้คัดค้านข้อเสนอนี้ เพราะควรเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับเจตนาของส.ว.และรัฐบาลที่ชูแก้ไขรายมาตรานั้น สุดท้ายแล้วถามว่าแก้รายมาตราเพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ของส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ก็ไม่มีวี่แวว จะแก้หลักการสรรหาองค์กรอิสระ อำนาจหน้าที่ก็ต้องทำประชามติ สุดท้ายก็ล้มอีก ส่วนตัวจึงไม่เชื่อ ไม่วางใจวางรัฐบาลแล้ว

คสช.ยึดอำนาจตั้งแต่ปี 2557 ขอเวลาเดี๋ยวเดียว แต่ก็ดึงเวลา ดึงเกมสารพัด จึงบอกว่าไม่ไว้ใจแล้ว หากประเด็นแก้รัฐธรรมนูญจะบานปลายก็เป็นเรื่องรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

ส่วนตัวยังเดินหน้าต่อในการศึกษา แลกเปลี่ยน ถกแถลง เพื่อให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ ตื่นตัวทางการเมืองนั่นคือสิ่งที่ยั่งยืน ไม่ทำให้คนที่ถือปืนทำนอกเหนือหน้าที่ของตัวเอง เพราะถ้าเป็นอยู่อย่างนี้พูดอะไรไปคนถือปืนจะฟังก็ฟังนิดๆ หน่อยๆ ไม่เชื่อ

การขับเคลื่อนไปสู่การแก้ไขในวันข้างหน้าใช้เวลายาวแน่นอน ยังมีหนทางที่สดใสแต่ต้องเตรียมความพร้อมของประชาชน ซึ่งยากลำบาก และต้องอยู่บนความพยายามที่ตั้งมั่น แน่วแน่ เดินทางต่ออย่าไปหลงทาง

อย่าไปเดินในเส้นทางที่ผู้มีอำนาจหว่านล้อม เราต้องเดินบนทางประชาชน ไม่ได้เดินสายคนมีอำนาจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน