คอลัมน์ ใบตองแห้ง

กม.วิบัติรัฐอสูรกาย – การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบม็อบ กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะเห็นชัดว่าเลือกปฏิบัติ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” โดนกล่าวหาว่าแพร่โควิด ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.โรคติดต่อ ตำรวจระดม คฝ.เข้าสลาย แต่นักร้อง ส.ส. ใส่ชุดไทยไปเซิร์ฟสเกต เฮฮาถ่ายภาพไม่ใส่หน้ากาก ไม่เห็นเป็นไร

พูดอย่างนี้ไม่ใช่ให้เอาผิดมาดามเดียร์ โจอี้บอย เพราะไม่มีใครควรถูกจับ คนขึ้นรถเมล์รถไฟฟ้าแออัดกว่าหมู่บ้านทะลุฟ้าหลายเท่า แต่ก็ทำให้คนเชื่อว่า ม็อบถูกสลายเพราะรัฐบาลไม่พอใจ ไม่อยากให้โห่ไล่ รบกวนบรรยากาศชื่นมื่นถ่ายภาพ ครม.ใหม่

การชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ตำรวจอ้างโควิดมาละเมิดสิทธิประชาธิปไตย บอกให้แยกย้ายใน 3 นาที พูดไปทำไม ม็อบไม่มีอาวุธก็เอาเซ็กซ์ทอยไปโชว์ ทั้งที่ไม่ได้ใช้ทิ่มปากตำรวจสักหน่อย

การใช้อำนาจใช้กำลัง อย่างสลายม็อบ 20 มี.ค. ทำให้ตำรวจถูกประณาม ถูกเกลียดชัง เสียหายต่อภาพลักษณ์ศักดิ์ศรีตำรวจ (ถ้ายังมี) แล้วยังกระทบไปถึงความเชื่อถือ ต่อกระบวนการยุติธรรม เมื่อตำรวจทำสำนวนส่ง อัยการก็รีบสั่งฟ้อง แล้วศาลไม่ให้ประกัน

จนเกิด “ข่าวลือ” ที่โฆษกศาลออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ซึ่งในมุมกลับ แปลว่า “ข่าวลือ” นั้นแพร่หลายกว้างขวาง

กระทั่งรังสิมันต์ โรม จะเสนอกรรมาธิการการกฎหมาย เชิญประธานศาลฎีกามาชี้แจง แต่ฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกันกลับ ขัดขวางว่าทำไม่ได้ ทั้งที่โดยหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย แม้อำนาจตุลาการมีอิสระในการวินิจฉัยคดี สภาแทรกแซงไม่ได้ แต่เมื่อเกิดกรณีที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ก็มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องชี้แจงเรื่องนั้นๆ ต่อประชาชนผ่านรัฐสภา

เอาเถอะ ถึงไม่มาชี้แจง ศาลก็ตระหนักดีว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นอย่างไร เพนกวินอดอาหารมานานสองสัปดาห์ รุ้งเริ่มอดวันที่สาม สมยศ พฤกษาเกษมสุข แถลงต่อศาลให้ประหารชีวิตยังดีกว่า

ผู้มีอำนาจน่าจะรู้ว่า การจัดการกับม็อบและแกนนำอย่างรุนแรง ไม่สามารถปราบปรามพลังคนรุ่นใหม่ได้ แม้วันนี้ ดูปรากฏการณ์เหมือน “ม็อบแผ่ว” แต่ตราบใดที่ความขัดแย้งยังรุนแรง ผู้มีอำนาจไม่ประนีประนอม ไม่ถอยแม้ก้าวเดียวกลับใช้กฎหมายรุกไล่ ก็อย่าคิดว่าจะเอาชนะความคิดคนรุ่นใหม่ได้

การรบกับคนรุ่นใหม่ Gen-Y Gen-Z ถึงชนะก็เสียหายรุนแรง เช่นถ้าปราบให้เข็ดหลาบ จับเข้าคุกสักพัน เรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนก็ใช้แก๊สน้ำตากระสุนยาง ฯลฯ คนรุ่นใหม่อาจท้อแท้ แตกพ่าย หนีไปเรียนไปทำงานต่างประเทศ ที่เหลืออยู่ก็ยอมจำนน ไม่มีปากเสียง

ก็อาจทำได้ แต่ประเทศนี้จะสูญเสียพลังสร้างสรรค์พลังความคิดของคนรุ่นใหม่ เมืองไทยไม่ใช่จีน มีแผ่นดินกว้างใหญ่มีคนเป็นพันล้านจนไม่ต้องแยแสคนรุ่นใหม่ฮ่องกง

นั่นยังมองโลกแง่ดี สำหรับอำนาจอนุรักษนิยม เพราะถ้ามองแง่ร้าย ปัญหาต่างๆ ในระบอบประยุทธ์จะยิ่งขมวดปม ทั้งการเมืองเศรษฐกิจ ที่ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยเงินกระตุ้น และขายฝันว่าโควิดกำลังจะพ้นไป ท่องเที่ยวไทยกำลังจะกลับมา

แต่วิกฤตของรัฐกู่ไม่กลับ เศรษฐกิจ disrupted หลังโควิดจะไม่เป็นอย่างที่เล็งผลเลิศ การเมืองสับสนวุ่นวาย แม้ท่าทีรัฐบาลโอนอ่อนให้ผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังห่างไกลมาก และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ว่ากับฝ่ายค้านหรือพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง ขณะที่เครดิตนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็ย่ำแย่ ประชาชนไม่ไว้วางใจ

วิกฤตยังเกิดได้เป็นระลอกๆ ยังเรียกม็อบได้อีกเรื่อยๆ ไม่ว่าคนรุ่นไหน อย่าปรามาสไป ต่อให้ไม่มีคนไปร่วมกับ “ตู่-จตุพร” ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่เอา “ตู่-ป้อม” ก็มีจริง เพียงแต่ยังรวมกันไม่ติด ที่ผ่านมาก็กระอักกระอ่วนไม่อยากร่วมกับคนรุ่นใหม่

คลื่นใต้น้ำจะผุดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทุกฝ่ายมองว่า การแก้รัฐธรรมนูญถูกปิดกั้น ทำให้ประยุทธ์ผูกขาดอำนาจได้อีกยาวนาน

การใช้กฎหมายเป็นอาวุธ อย่างอยุติธรรม ก็ทำให้อาวุธบิ่นหัก กฎหมายวิบัติ กระบวนการยุติธรรมหมดความเชื่อถือศรัทธา แม้พยายามบอกว่า ใช้กับม็อบเท่านั้น ประชาชนทั่วไปไม่กระทบ ความเชื่อถือก็หมดไปด้วยกัน

ไม่ต้องพูดถึง “ข่าวลือ” ก็เชื่อได้ว่า คนในกระบวนการยุติธรรมย่อมกังวลต่อผลกระทบ นักวิชาการก็เริ่มตื่นตัว 4 คณบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เชียงใหม่ สงขลาฯ เห็นพ้องว่าจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมฟื้นวิกฤตศรัทธา

ธงชัย วินิจจะกูล เพิ่งกล่าวถึงปัญหานิติรัฐ ว่ากฎหมายไทยเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ควบคุมประชาชน ต่างจากกฎหมายตะวันตก ซึ่งใช้จำกัดอำนาจรัฐไม่ให้ละเมิดสิทธิประชาชน ที่ชาวบ้านทั่วไปไม่ชอบตำรวจ พูดกันว่าตำรวจคือกฎหมาย ที่จริงไม่ใช่แค่ตำรวจแต่รวมเจ้าหน้าที่ทั้งหมด รัฐไทยเป็นรัฐที่มีอำนาจมากๆ จนเรียกได้ว่า “รัฐอสูรกาย” ที่เห็นประชาชนเป็นศัตรู เพราะถ้าประชาชนเข้มแข็ง รัฐยิ่งไม่มั่นคง

ถ้าไม่ปรับตัว ประเทศนี้จะปฏิรูปอะไรไม่ได้เลย จนรัฐอสูรกายทำให้เกิดวิบัติฉิบหายหมดแล้วค่อยก่อร่างใหม่จากซากเก่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน