FootNote:ปฎิบัติการ ยืน หยุดขัง การเมือง “โรคระบาด”ใหม่ การเคลื่อนไหว

การปรากฏขึ้นของกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง” ที่เริ่มจากคนไม่ถึง 10 เมื่อ วันที่ 22 มีนาคม ณ บริเวณหน้าศาลฎีกา กำลังกลายเป็นโรคระบาด ใหม่ในทางการเมือง

เมื่อมิได้มีแต่เพียง ณ บริเวณหน้าศาลฎีกา ติดกับหลักเมืองและท้องสนามหลวงเท่านั้น หากเกิดขึ้นในจุดอื่นอย่างคึกคัก

กล่าวเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีขึ้นไม่เพียงแต่ที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง หากแต่ยังมีสถาบันพระจอมเกล้า บางมด และทุกวันเสาร์ก็มีที่หน้าเรือนจำพิเศษ

ขณะเดียวกัน ในส่วนภูมิภาคอาจเริ่มที่เชียงใหม่เป็นแห่งแรกจากนั้นตามมาด้วยที่อุบลราชธานี จากนั้นก็ตามมาด้วยลำพูน ตามมาด้วยพระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น มหาสารคาม

แม้จะมีข้อจำกัดจากประกาศของศบค.ในเรื่องมิให้มีการชุมนุมเกิน 50 คน แต่กลับยิ่งทำให้รูปแบบการชุมนุมกระจายออกไปอย่าง คึกคัก ผู้คนยิ่งเข้ามาร่วมอย่างไม่มีอะไรหยุดยั้งได้

จุดเด่นเป็นอย่างมาก คือ เป็นการชุมนุมด้วยความสงบ สันติอหิงสา สอดคล้องกับข้อกำหนดของสังคมในยุคโควิด

เมื่อใดที่กล่าวถึงกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง”ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงบทบาท ของ “กลุ่มพลเมืองโต้กลับ” โดยเฉพาะ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ และ นายบารมี ชัยรัตน์ เมื่อนั้น

คนแรกยืนหยัดอยู่กับ “พลเมืองโต้กลับ” มาแต่ต้น คนหลังอยู่ใน สถานะเป็นเลขาธิการ “สมัชชาคนจน”

คนหลังผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สะสมความจัดเจนตั้งแต่หลังสถานการณ์ เดือนตุลาคม 2516

จึงได้คิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เป็นการยืนเงียบๆเป็นเวลา 112 นาที โดยมีการจัดทำป้ายอันประกอบด้วยรูปของคนที่ถูกจำขังพร้อมกับข้อความบางข้อความ

เมื่อถึงเวลา 112 นาทีก็เปล่งคำขวัญ “ปล่อยเพื่อนเรา”

เมื่อการเคลื่อนไหวนี้แพร่กระจายออกไปในขอบเขตกว้างไกลที่เคลื่อนไหวอย่างเงียบๆก็เริ่มกังวานดังกึกก้องเป็นลำดับ

ในห้วงหลังของเดือนเมษายน ท่าทีของอำนาจรัฐเริ่มเข้มงวดและแข็งกร้าวเป็นลำดับ ไม่ว่าจะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่ว่าจะทีร้อยเอ็ด ขอนแก่น

คำถามก็คือ หากพวกเขาชุมนุมอย่างสงบ ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องโควิดครบถ้วน จะเอาข้ออ้างใดไปสกัดขัดขวาง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน