พัวพันคนดี : บทบรรณาธิการ

คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจทลายเครือข่ายทุจริตของนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก ประธานโครงการคืนคุณแผ่นดิน และจิตอาสาหน่วยปฏิบัติการข่าวสาร หรือไอโอของกองทัพ เป็นอีกคดีที่พาดพิงมาถึงการเมือง

แม้การฉ้อโกง หลอกลวงนักลงทุนหลายรูปแบบ มูลค่ารวมกว่าหลายพันล้านบาท อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคลในแวดวงการเมือง

แต่นักการเมืองและกองทัพที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างภาพสำหรับกิจการเหล่านี้ ควรต้องให้คำอธิบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะคำถามว่ามีการตรวจสอบบุคคลหรือเครือข่ายลักษณะนี้แน่ชัดแล้วหรือไม่

มีการปล่อยให้เครือข่ายเช่นนี้มาอบรมเจ้าหน้าที่กองทัพ หรือมีความร่วมมือกับกองทัพในลักษณะอื่นใดอีกหรือไม่

ยิ่งเมื่อรัฐบาลประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ เชิญชวนประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ

มีการรณรงค์ว่าต้องการสร้างภาครัฐให้โปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และมุ่งสร้างวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริต รวมทั้งความละอายต่อการทุจริต

ยิ่งต้องไม่ปล่อยให้เกิดข้อครหาอย่างเครือข่ายนายประสิทธิ์ เจียวก๊ก เข้ามาใกล้กองทัพ ถึงขั้นเคยจัดการอบรมด้านข้อมูลข่าวสารให้ และมีบริษัทให้บริการเชื่อมโยงเซิร์ฟเวอร์ที่กองทัพบกใช้

รวมถึงมีข้อสงสัยใช้ไอโอโจมตีฝ่ายค้านและบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาล

หากเทียบเคียงกับกรณีดารานักแสดงถูกมิจฉาชีพหลอกให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ รีวิวสินค้าหรือประชาสัมพันธ์บริษัทที่ดำเนินกิจการมิชอบ ถูกดำเนินคดีด้วย ฐานเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน

เกิดคำถามว่า หน่วยงานรัฐที่เคยร่วมงาน เชื้อเชิญ หรือตอบรับคำเชิญเครือข่ายของผู้ต้องหาที่อ้างตัวเป็นคนดี ควรต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยหรือไม่

ควรอธิบายให้ชัดเจนว่าเคยใช้งบประมาณของรัฐให้กับบริษัทหรือเครือข่ายเหล่านี้หรือไม่ เคยได้รับของกำนัลหรือประโยชน์อื่นใดด้วยหรือไม่

บุคคลในรัฐบาลได้รับบทเรียนจากการสร้างภาพของบุคคลที่กล่าวอ้างหรือได้รับรางวัลทำคุณงามความดีเพื่อสังคม โดยไม่ตรวจสอบแล้วหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน