ภาวะสังคม : บทบรรณาธิการ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีรายงานเผยแพร่ก่อนสมาชิกสภาผู้แทนฯ จะร่วมพิจารณาร่างงบประมาณประจำปี 2565 ว่าด้วยภาวะสังคมไตรมาส 1/2564

ส่วนที่เป็นด้านลบพบว่า อัตราการว่างงานสูงขึ้น แรงงานมีชั่วโมงการทำงานลดลง หนี้สินครัวเรือนเพิ่ม และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ยังอยู่ในระดับสูง

ตัวเลขหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 4/2563 มีมูลค่าสูงถึง 14.02 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อจีดีพี

ส่วนแนวโน้มการก่อหนี้ของครัวเรือนในปี 2564 คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว บวกกับตลาดแรงงานจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

ผู้ว่างงานมีจำนวน 7.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.96% สูงขึ้นอีกครั้ง จากที่เคยชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากโควิดที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สภาพัฒน์ระบุว่าต้องติดตามในปี 2564 คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ลดลง สังเกตได้จากการระบาดระลอกใหม่ใกล้เคียงกับการระบาดในระลอกแรกช่วงเวลาเดียวกันนี้เมื่อปี 2563

อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงาน แรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอาจตกงานมากขึ้น หรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

ขณะเดียวกันจากการประเมินของศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยวของททท. กว่าที่การท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ต้องคาดหวังไปถึงปี 2569 ดังนั้นแรงงานในภาคการท่องเที่ยวอาจถูกเลิกจ้างมากขึ้นจากที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน

หากถูกเลิกจ้าง ไม่อาจกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ อาจต้องเปลี่ยนอาชีพ

ส่วนนักศึกษาจบใหม่ เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนการขยายตำแหน่งงานใหม่ออกไป จึงกระทบกับการหางานของนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน

ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายได้ว่าเหตุใดกลุ่มคนรุ่นใหม่จึงหวั่นไหวต่ออนาคตของตนเองและของประเทศ

พร้อมกับเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบบริหารราชการของรัฐและภาคการเมือง

นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรเข้าใจมากกว่ามองเด็กเป็นแค่ม็อบ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน