รายงานพิเศษ

แก้รธน.ตอบโจทย์ปชต.จริงหรือ? – การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่ข้อเรียกร้องหลักของผู้ชุมนุม หากเป็น 1 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

แต่ที่ผ่านมามีการสกัดกั้นการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง

แม้วันนี้ ร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะผ่านวาระรับหลักการมาได้

ก็ยังเกิดความกังวลใจจากหลายฝ่ายว่าจะเดินหน้าแก้ไขสำเร็จหรือไม่ หรือเป็นแค่พิธีกรรม เพื่อใช้เป็นข้ออ้างกับสังคม

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์

ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ต

เพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

การแก้ระบบเลือกตั้งดูจากการพิจารณาวาระที่ 1 มีคนเห็นชอบ คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ จากระบบที่เสนอ พลังประชารัฐ เพื่อไทยที่ตั้งใจจะเป็นพรรคใหญ่จะได้เปรียบ และหากดูจากจำนวนเสียงอย่างเดียวคิดว่าน่าจะผ่าน แต่การพิจารณาแต่ละรอบมีตัวแปรหลากหลาย มีความไม่แน่ไม่นอนสูง จึงอาจไม่ผ่านก็ได้

ส่วนตัวไม่สนใจ เพราะไม่มีอะไรน่าสนใจถ้าแก้แค่ระบบเลือกตั้ง แต่ระบบการเมืองอื่นๆ เช่น อำนาจ ส.ว. ที่มาองค์กรอิสระ หรือแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ยังคงอยู่ ก็ไม่ต่างอะไร ต่อให้เพื่อไทยขึ้นมาถ้าตกลงผลประโยชน์ร่วมกับ คสช.ได้ก็เป็นรัฐบาลได้ หากตกลงไม่ได้ก็เป็นรัฐบาลไม่ได้ ต่อให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบใหม่ก็ตาม

ส่วนการพิจารณาในกมธ.นัดแรก ที่เกิดการถกเถียงกันอย่างดุเดือดระหว่างตัวแทนจากพรรคก้าวไกล กับนายไพบูลย์ มองว่าไม่ได้เป็นประเด็นมากนัก เพราะสองฝ่ายมีความขัดแย้งอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว การแก้ระบบเลือกตั้งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ไม่ใช่การทะเลาะกันของสองฝ่ายนี้

อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ออกมาตามที่ประชาชนเรียกร้อง แต่ออกมาตามที่พรรคใหญ่ 3 พรรคโหวตรับหลักการไป

ส่วนความพยายามนำเนื้อหาของพลังประชารัฐและเพื่อไทยที่ตกไปแล้วเข้ามาสอดไส้ ในทางกฎหมายทำไม่ได้ แต่หากใช้เฉพาะเนื้อหาตามร่างที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอก็จะมีปัญหา ถ้าไม่แก้มาตราอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะบังคับใช้ไม่ได้ แต่หากแก้มาตราอื่นที่เกี่ยวข้องที่ไม่ได้เสนอแก้ไขก็จะขัดกับที่สภารับหลักการ

ร่างของพรรคประชาธิปัตย์นั้น สมมติว่าหากไม่มีการแก้ไขแล้วประกาศใช้ ระบบเลือกตั้งจะพังเละเทะ เพราะแก้ไขแค่บางมาตรา ซึ่งมีผลกระทบไปยังมาตราอื่นที่ไม่ได้รับการแก้ไขด้วย เป็นร่างที่ไม่ละเอียดรอบคอบพอที่จะสร้างระบบเลือกตั้งใหม่ให้สมบูรณ์

ปัญหาที่จะเกิดขึ้น เช่น วิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ได้เขียนสูตรคำนวณไว้อย่างละเอียด หรือเมื่อจำนวน ส.ส.เขต หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเปลี่ยนไปก็จะไปกระทบกับมาตราอื่นๆ ที่พูดถึงการนับจำนวนที่นั่งต่างๆ

ภาพพจน์ของนายไพบูลย์ ในฐานะประธานกมธ. เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขของพรรคประชารัฐ ที่ได้เสียงโหวตน้อยที่สุด ซึ่งแปลกมาก และยังมีบทบาทเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อชะลอการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว ศาลวินิจฉัยชัดเจน ไม่ได้ห้ามสภาแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.เขียนฉบับใหม่ แต่นายไพบูลย์อภิปรายว่าศาลสั่งห้าม จะเห็นเจตนาของนายไพบูลย์ชัดเจน

ความพยายามจะตั้งคณะทำงาน ไม่รู้รายละเอียดและยืนยันว่าไม่สนใจ ทั้งการทะเลาะกันและการตั้งคณะทำงาน ขอเชิญชวนประชาชนติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่อย่าไปติดตามรายละเอียดเหล่านี้ เพราะจะทำให้ไขว้เขว และเป็นเพียงแค่เกมการเมือง หลักๆ คือเนื้อหาไม่เป็นประโยชน์และไม่ตอบโจทย์ แต่เราอยากรู้ว่าสุดท้ายใครคิดจะทำอย่างไร

การแก้ระบบเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ตรงโจทย์ปัญหา แต่อาจจะมีประโยชน์ก็ได้ เพราะอย่างไรระบบเลือกตั้งที่อิงกับปี 40 ก็ยังดีกว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ถ้าแก้เรื่องนี้อาจจะดีกว่าไม่แก้ก็ได้ เพียงแต่ไม่ตรงโจทย์ปัญหา ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ระบบเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ระบบอำนาจพิเศษอื่นๆ

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การที่รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ ส่งนายไพบูลย์ เข้ามาทำหน้าที่ในกมธ.พิจารณารัฐธรรมนูญ มีนัยยะที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

นายไพบูลย์เป็นบุคคลที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด จึงมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะแก้ยาก และไม่มีทางที่จะได้เห็นความเป็นประชาธิปไตย ทั้งระบบเลือกตั้งและการนับคะแนนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน แต่ตอบโจทย์ความต้องการของทหารเท่านั้น

เชื่อว่าโอกาสที่จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับว่าแก้อย่างไรที่จะทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ประโยชน์มากที่สุด แก้แล้วโอกาสที่พลังประชารัฐจะชนะการเลือกตั้ง แก้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ดังนั้นความหวังที่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อสะท้อนความต้องการของประเทศและประชาชนแทบจะไม่มี

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ เจ้าของร่าง ที่ไม่เคยยืนข้างประชาธิปไตย ก็พร้อมจะเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับพรรคตัวเอง และยังออกมาพูดได้ว่าได้แก้ไขตามที่หาเสียงไว้กับประชาชนแล้ว เท่ากับการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ไม่ได้แก้ไขให้เกิดระบบเลือกตั้งที่เป็นธรรมหรือยึดโยงประชาชน

ส่วนที่พรรคก้าวไกลตั้งข้อสังเกตว่าถึงการสอดไส้ในการพิจารณาของกมธ. มีความพยายามเปลี่ยนแปลงให้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ไปเหมือนร่างอื่นที่สภาโหวตคว่ำไปแล้วให้กลับมามีชีวิตใหม่นั้น ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตที่ทำให้เราต้องจับตาดู ว่าจะมีการแก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทหารอยู่ในอำนาจได้อีกต่อไปหรือไม่

ต้องตามดูในชั้นแปรญัตติว่าจะแก้ไขออกมาในรูปแบบใด เพราะการจะเพิ่มหรือตัดอะไรออกไปก็สามารถทำได้ ขึ้นกับเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าจะยังไม่รองรับไปสู่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยรัฐบาลน่าจะอยู่บริหารราชการต่อได้จนครบ 4 ปี ก็เหลือเวลาอีกไม่เท่าไรแล้ว การยุบสภาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐบาลประสบวิกฤตรุนแรง แต่ขณะนี้รัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้อยู่

การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ มั่นใจว่าจะได้เสียงมากพอสมควร แต่เมื่อมาดูแนวโน้มของผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยได้ใช้สิทธิมีประมาณ 3 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แนวโน้มจะไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐมีสูง

เชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้มีเจตนารมณ์และไม่เห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่การแก้ไขควรยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก มากกว่าประโยชน์ที่พรรคการเมืองจะได้

การจะเขียนหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้ทหารเป็น ผู้กำกับ ย่อมถูกออกแบบตามที่เขาต้องการ ความหวังที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คงเป็นเพียงฝันลมๆ แล้งๆ

วิทยากร เชียงกูล

อดีตคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม

ม.รังสิต

การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งยังสับสน พวกนักการเมืองคิดว่าระบบบัตรเลือกตั้งสองใบต้องนับแบบเก่า ซึ่งไม่จำเป็น ผมเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้งสองใบ แต่เวลานับต้องนับแบบเยอรมัน นับแบบรัฐธรรมนูญปี 60 คือนับเป็นเปอร์เซ็นต์ แบ่งส.ส.เขต กับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

พรรคใหญ่ๆ เข้าใจผิดที่คิดว่าปี 40 เลือกแบบสองใบได้ส.ส.เยอะ ตอนนั้นนับผิด นับซ้ำ ไม่ใช่นับแบบเยอรมัน ซึ่งจะช่วยพรรคขนาดกลางๆ ได้ดีกว่า

นักการเมืองยังพูดกันแบบเก่า จะเอาตามที่ตัวเองพอใจ พรรคใหญ่ก็อยากจะได้แบบเก่า พรรคใหม่ก็อยากจะได้แบบใหม่ อย่างพรรคก้าวไกลก็คิดว่าถ้าแบบนี้เขาจะได้ส.ส.เยอะ แต่ที่สุดพรรคใหญ่ก็คงเอาแบบเก่า

ยืนยันว่านับแบบเก่าไม่ได้ความ ต้องนับแบบเยอรมัน คือเลือกสองใบจริงแต่นับคะแนนแบบปี 60 ซึ่งกกต.น่าจะเข้าใจปัญหานี้ ประเด็นคือแล้วแต่คนแก้ พอแก้รัฐธรรมนูญมาแล้ว กกต.ก็ปฏิบัติตามอย่างเดียว

ส่วนปัญหาในกมธ.แก้รัฐธรรมนูญนั้น ยังเชื่อว่าพวกประชาธิปัตย์จะประนีประนอมได้ เพราะเขาเห็นด้วยและคิดว่าแบบเก่าจะดีกว่า และตัดพรรคก้าวไกลที่เลือกตั้งครั้งล่าสุดได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เยอะ ซึ่งปาร์ตี้ลิสต์มีความสำคัญ เพราะระยะยาวต้องแข่งกันเรื่องนโยบาย ไม่ได้แข่งที่ตัวบุคคล แบบเยอรมันให้จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เท่ากับส.ส.เขต คนละครึ่ง

ส่วนข้อกังวลการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สำเร็จ เพราะแค่กมธ.ประชุมนัดแรกพรรคก้าวไกลกับนายไพบูลย์ก็ปะทะคารมกันดุเดือด ก็เพราะต่างคนต่างมองผลประโยชน์ตัวเอง แต่รัฐธรรมนูญจะออกมาตามเสียงส่วนใหญ่ ยังมีส.ว.อีก คงไปตามเสียงส่วนใหญ่ ตามกระแสรัฐบาล

สำหรับข้อเสนอตั้งคณะทำงานขึ้นมาเขียนเนื้อหาแปรญัติ ความจริงน่าจะเปิดให้ประชาชนมาช่วยวิพากษ์วิจารณ์ ต้องมี ส.ส.ร. มาคุยกันใหม่ จะได้คุยมุมต่างๆจุดแข็ง จุดอ่อน คุยรอบคอบให้มากกว่านี้ จึงเป็นเหลี่ยมทางการเมืองที่ไม่รู้จะออกมาอย่างไร แล้วแต่ใครจะดันได้ ดันไม่ได้

ส่วนนายไพบูลย์ ในฐานะประธานกมธ.จะนำพาการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จหรือไม่นั้น คิดว่านายไพบูลย์มองแบบสุดโต่ง มองแบบสองขั้ว มองแบบเอาแต่ประโยชน์ของพวกตัวเอง และโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากเกินไป

ต้องมองระยะยาว ให้ประชาชนเลือกเอง ถ้าคุณเก่ง เสนอนโยบายดีๆ ทำดีๆ คนก็เลือก ต้องทำให้รัฐธรรมนูญแฟร์ ให้ยุติธรรม ทำเพื่อคนในระยะยาว อย่ามองระยะสั้น ต้องเขียนให้รัฐธรรมนูญอยู่ได้ยาวๆ

ดูอย่างอเมริกาเขาไม่แก้กันบ่อยๆ ไม่ใช่แก้เพื่อประโยชน์ระยะสั้น อย่างเช่นกลัวพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ก็ไปเขียนกันเขาไว้ มันไม่จำเป็น ต้องยอมฟังประชาชน เปิดกลางๆ เปิดกว้างๆ ไว้

ส่วนตัวอยากให้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีมากขึ้น แต่ส.ส.ไม่ชอบ จะเน้นหาเสียงในพื้นที่ และเลือกตั้งสองใบก็ควรนับแบบเยอรมัน ถ้าพรรคใหญ่ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อาจไม่ได้ หรือได้น้อย พรรคกลางๆ หรือพรรคเล็กจะได้ส.ส.อย่างพรรคกรีน พรรคสามัญชนในเยอรมัน

แต่ถ้าบัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคเหล่านี้ไม่มีปัญญาส่งคนลงสมัครทุกเขต เพราะค่าสมัครแพง หาคนลงก็ลำบาก แต่ระบบปาร์ตี้ลิสต์ พรรคที่ชอบไม่ส่งคนลง เราก็ยังเลือกเขาได้ พรรคกรีนในเยอรมันถึงเติบโตได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน