บทบรรณาธิการ

20 ปีก่อน-หลัง

20 ปีก่อน-หลัง : ช่วงเวลา 20 ปีเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรและเคยเป็นประเด็นถกเถียงในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่คสช.จัดทำขึ้น

ยุทธศาสตร์ 6 ด้านที่กำหนดไว้ มีเป้าหมายว่าต้องอาศัยเวลา 20 ปี เพื่อทำให้ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มี รายได้ที่เพียงพอ ภายในปี 2579

ประชาชนทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์นี้ จึงอาจนึกภาพไม่ออกว่า ระยะเวลา 20 ปีจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างกับชีวิตของตน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดติดต่อมา 2 ปี ทำให้หลายคนหยุดนิ่งและหลายคนถอยหลัง

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 ก.ย. เป็นวาระครบรอบ 20 ปีเหตุวินาศกรรมสหรัฐ อเมริกา ช่วงเวลาดังกล่าวสะท้อนภาพให้เห็นว่า ช่วง 20 ปีเกิดอะไรได้บ้าง

เหตุวินาศกรรม 11 กันยา เป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่ส่งผลสะเทือนต่อความมั่นคง การอยู่ร่วมกันในสังคม และเศรษฐกิจทั่วโลก

เนื่องจากเกิดสงครามอัฟกานิสถานที่สหรัฐนำทัพพันธมิตรบุกโค่นอำนาจกลุ่มตาลิบันที่มีแนวทาง สุดโต่งพร้อมปราบปรามเครือข่ายอัลไคด้า เปิดทางให้นักการเมืองชาวอัฟกันสายกลางขึ้นมาบริหารประเทศ

ส่วนไทย ช่วงเวลาเกิดเหตุปี 2544 เป็นปีที่เพิ่งมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียว ปูทางไปสู่การบริหารที่คึกคักด้วยนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นรูปธรรมหลายเรื่อง เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม

เป็นบทพิสูจน์ที่ประชาชนสัมผัสถึงคำว่า ประชาธิปไตยกินได้ เป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลก 20 ปีหลังจากปี 2544 กลายเป็นช่วงของการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่อต้านกับกลุ่มสนับสนุนมหาอำนาจสหรัฐ ผู้นำทุนนิยมของโลก โดยไม่เคยมีการเจรจาพูดคุยกัน

ช่วง 20 ปีนั้นจึงเกิดสงครามอิรักเพิ่มตามมา พร้อมกับการก่อการร้ายที่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก

ความสูญเสียและบอบช้ำจากการใช้ความรุนแรง ขัดขวางการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยไปมาก โดยเฉพาะกับอัฟกานิสถาน จนสุดท้ายต้องวนกลับไปถูกปกครองด้วยกลุ่มตาลิบันเช่นเดิม

ส่วนไทย มีความพยายามจากกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการแช่แข็งประเทศด้วยการรัฐประหารอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยไม่คิดเรียนรู้ความผิดพลาด ทั้งยังตั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมาแบบพูดเองเออเอง

จนน่าห่วงใยว่า 20 ปีข้างหน้าประเทศอาจวนกลับไปที่จุดเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน