คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ตรวจสอบแบบเรียน

ต่อเนื่องจากกรณีที่หนังสือนิทานชุดวาดหวังหนังสือของเอกชน ถูกกระทรวงศึกษาธิการสั่งตรวจสอบว่ามีเนื้อหาขัดกับหลักศีลธรรมอันดีงามของประเทศหรือไม่ จากการนำเสนอเรื่องราวสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมกันในสังคม

มาถึงกรณีใหม่ ว่าด้วยหนังสือแบบเรียนของรัฐเรื่อง ภาษาไทย หลักภาษา และการใช้ภาษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามหลักสูตรการศึกษาแกนกลาง พ.ศ. 2551 มีเนื้อหาทางการเมืองสอดแทรกในเนื้อหาการสอนเรื่องประโยคความซ้อน

เป็นประโยคความซ้อน 2 ประโยค ได้แก่ สมชายจะเลือกประชาธิปไตยที่นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ สมชายจะเลือกเผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ

ตัวอย่างทั้งสองประโยคไม่เพียงมีเนื้อหาเปรียบเทียบ ยังถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ไม่เป็นเหตุเป็นผล และขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

การยกตัวอย่างประโยค “เผด็จการที่ผู้นำมีคุณธรรมประจำใจ” เป็นเรื่องที่บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างร้ายแรง และไม่เป็นที่ยอมรับในโลกสากล

คำว่า เผด็จการ เป็นลัทธิการปกครองที่ผู้นำคนเดียว หรือคนกลุ่มเดียวใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการบริหารประเทศ

หลายกรณีใช้อำนาจกดขี่ เอาเปรียบ สร้างความเดือดร้อนความทุกข์ทรมานให้ประชาชน เช่น เผด็จการฮิตเลอร์ เผด็จการมุสโสลินี เผด็จการมาร์กอส ฯลฯ

เผด็จการจึงห่างไกลและตรงกันข้ามกับคำว่า ผู้นำที่มีคุณธรรมประจำใจ อย่างสุดขั้ว

เบื้องต้น รัฐมนตรีศธ.ตอบคำถามสังคมในเรื่องนี้ว่าจะตรวจสอบอย่างละเอียด

พร้อมให้เหตุผลว่า ข้อร้องเรียนที่เผยแพร่ในโลกโซเชี่ยล อาจจะเป็นการตัดช่วงใดช่วงหนึ่งออกมา จึงต้องไปดูบริบททั้งหมดก่อน ด้วยความเชื่อของรัฐมนตรีว่าหนังสือเรียนแต่ละเล่มที่ศธ.คัดสรร ต้องผ่านคณะกรรมการหลายขั้นตอน จึงต้องดูให้รอบด้านว่าที่มาของหนังสือนั้นเป็นอย่างไร

ดังนั้นบทสรุปของเรื่องนี้ ศธ.ควรจะมีคำตอบให้อย่างน้อย 2 คำถาม

คำถามแรก แบบเรียนเช่นนี้ผ่านการพิจารณามาได้อย่างไร และอีกคำถาม ศธ.ได้ตรวจสอบเนื้อหาเหมือนกับที่นิทานชุดวาดหวังหนังสือถูกเพ่งเล็งว่าขัดกับหลักศีลธรรมอันดีงามของประเทศด้วยหรือไม่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน