ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดี อาระเบีย กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางไป เยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน สัลมานฯ มกุฎราชกุมาร รองนายกฯและรมว.กลาโหม ซาอุฯ การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ส่งผลดีต่อไทยอย่างไรบ้าง และจะมีผลเสียอย่างไรหรือไม่ รวมถึงการวางท่าทีต่อความสัมพันธ์ครั้งใหม่ควรเป็นอย่างไร มีความเห็นจากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านภูมิภาคตะวันออกกลาง จรัญ มะลูลีม สาขาวิชาการระหว่างประเทศและการทูต คณะรัฐศาสตร์ มธ. การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุฯ เพื่อให้มีสถานภาพทางการทูตแบบปกติ ภายใต้การมีเอกอัครราชทูตระหว่างกัน ถือเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงสุด หลังจาก 32 ปี ไทยมีตัวแทนซาอุฯแค่ระดับอุปทูต ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทุกด้านยกระดับตามไปด้วย เช่น ด้านแรงงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม การลงทุน การส่งออกอาหารฮาลาล การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมในไทย การสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ความสัมพันธ์กับองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศสังเกตการณ์อยู่ในองค์การ ซึ่งมีมากถึง 57 ประเทศ สำนักงานใหญ่โอไอซี และเลขาฯโอไอซี พำนักอยู่ที่ซาอุฯ ดังนั้น การกระชับความสัมพันธ์มีผลบวกกับไทยหลายประการ สำคัญที่สุดคือไทยสามารถส่งออกสินค้า และเข้าร่วมกับหอการค้าอิสลามที่สังกัดในโอไอซีได้โดยตรง จากที่เมื่อก่อนเราต้องติดต่อผ่านบาห์เรน เป็นความก้าวหน้าทางการเมือง มองภาพรวมแล้วไทยจะได้ผลบวก ผลลบน่าจะน้อยมากถ้าดำเนินความสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่นหลังจากนี้ เมื่อลงรายละเอียดแต่ละด้านจะพบว่าในส่วนแรงงาน จากเดิมที่ไทยส่งแรงงานไปทำงานที่ซาอุฯถึง 2 แสนคน มีการส่งรายได้กลับมา แม้วันนี้การส่งแรงงานไปซาอุฯ อาจไม่ได้มากเท่าเดิม แต่ก็รับทราบว่าซาอุฯ ยืนยันจะใช้แรงงานไทย โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างอาคารที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับ ยังรวมถึง Service Mind ความดูแลเอาใจใส่ต่องาน ซึ่งแรงงานไทยได้รับการยกย่องมากกว่าแรงงานในเอเชียใต้ หรือ ฟิลิปปินส์ ในส่วนการท่องเที่ยว จากที่หยุดไป 32 ปี คนซาอุฯ ที่ไม่ใช่นักธุรกิจ หรือทำการค้า ไม่สามารถเข้าไทยได้จะเปิดให้คนทั่วไปมาเที่ยวไทยได้ การค้าขาย การซื้อสินค้าจากไทย เช่น กล้วยหอม ข้าว เสื้อผ้า อาหารฮาลาล รวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษา เวลาเดียวกัน ซาอุฯ ก็สนับสนุนมหาวิทยาลัยฟาฏอนี จ.ปัตตานี ที่ขับเคลื่อนโดยการสนับสนุนของประเทศจากตะวันออกกลาง และยังสนับสนุนเรื่องโควตาส่งคนไทยไปร่วมพิธีฮัจญ์ คาดหวังว่าจะมีคนไทยได้ไปมากขึ้น การกระชับความสัมพันธ์ของไทย-ซาอุฯในช่วงเวลานี้ก็จะไม่ไปกระทบกับความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจทั้งหลายที่เรามีความผูกพัน ด้วยเหตุว่าเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านสำคัญในนโยบายด้านการต่างประเทศ และนโยบายการ ขับเคลื่อนประเทศของผู้นำซาอุฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าคนที่มีบทบาทต่อการขับเคลื่อน และมีความสำคัญต่อนโยบายทางการค้า การลงทุน และด้านความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ คือมกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บินสัลมาน หรือชื่อย่อ MBS ที่ปรับท่าทีการเผชิญหน้ากับชาติต่างๆ เช่น อิหร่านและกาตาร์ ก็หันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ รวมทั้งขยายความสัมพันธ์เพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีน สหรัฐ รัสเซีย จะเห็นว่าจีนเองก็ส่งสินค้าเข้าไปขายในซาอุฯ จำนวนมาก แม้แต่เสื้อผ้าที่ใช้ประกอบพิธีละหมาด ในเวลาเดียวกันสหรัฐก็มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับซาอุฯ ต้องไม่ลืมซาอุฯ คือผู้ซื้ออาวุธมูลค่าแสนล้าน มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกของการซื้ออาวุธ ขณะที่ MBS ก็พยายามวางท่าทีกับทุกชาติให้สมดุลมากกว่าไปขึ้นกับสหรัฐและก็ไปเยือนรัสเซียก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านตามแผนปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมตามวิชั่น 2030 ของซาอุฯ ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุฯ มิได้มีผลใดๆ ต่อความสัมพันธ์ของไทยกับมหาอำนาจ จึงสามารถดำเนินความสัมพันธ์กันได้อย่างเต็มที่ ถามว่าการที่ซาอุฯ ขับเคลื่อนประเทศแนวทางนี้เพื่อหามิตรประเทศ ภายหลังถูกต่อต้านจากชาติยุโรปจากกรณีฆาตกรรมนักข่าวในสายตาโลกก็พูดได้ แต่การดำเนินตามแผนตามวิชั่น 2030 มีมาก่อนที่จะเกิดกรณีดังกล่าว จึงไม่ใช่สาเหตุใหญ่ของการปรับเปลี่ยนท่าทีทางการทูต แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือว่า เขาต้องการเปลี่ยนประเทศที่มีความเป็นอนุรักษนิยมสูงมาเป็นประเทศสายกลาง เช่น การพลิกจาก ดินแดนทะเลทรายมาเป็นแผ่นดินที่อุดมด้วยต้นไม้ ซึ่งคาดว่าจะ สั่งต้นไม้จากไทยเป็นล้านๆ ต้น หากสิ่งที่ต้องคำนึงถึงประการแรก เมื่อนายกฯ ไปแสดงความเสียใจและรับปากจะติดตามคดีเก่าอีกครั้ง ต้องทำตามคำพูด แสดงให้เห็นว่าจริงจัง มีความจริงใจในการติดตามและได้ทำเต็มที่จริงๆไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร และก่อนมาถึงวันนี้ มาจากร่องรอยความพยายาม 6 ปีมาแล้ว ขณะที่ประเทศเขาก็พยายามเปิด สอดคล้องกับช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายขับเคลื่อนประเทศของซาอุฯ ไม่มีรัฐบาลใดจะอ้างได้ เป็นความสำเร็จของรัฐบาลเพียงรัฐบาลเดียวได้ เพราะตลอด 32 ปี ทุกรัฐบาลมีความพยายามรื้อฟื้นมาตลอด และหลายกลุ่มทั้งจากองค์กรมุสลิม ถ้าไม่ใช่ยุค MBS การเปลี่ยนแปลงอาจยังไม่เกิด ศราวุฒิ อารีย์ ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ การไปเยือนซาอุฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเยือนที่คิดว่ามีข้อสรุปมาก่อนหน้านี้แล้วในหลายรัฐบาล จุดเริ่มต้นที่ทำให้ไทยและซาอุฯพูดคุยกันมาตลอดเป็นลำดับ มีการพบปะทั้งเจ้าหน้าที่ระดับเล็ก ระดับใหญ่ ช่วงประชุมจี 20 นายกฯ ได้เจอกับมกุฎราชกุมารแห่งซาอุฯ คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำไปสู่การตกลงที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ และอย่างเป็นทางการที่นายกฯ ไปเยือน ความสำเร็จครั้งนี้นำไปสู่ผลประโยชน์ร่วมกันของสองประเทศ ซาอุฯ ก็อยู่ในช่วงปฏิรูปเศรษฐกิจ ภายใต้วิชั่น 2030 วิชั่นนี้ประสบความสำเร็จได้เขาต้องการความร่วมมือจากประชาคมโลกด้วย ไม่เฉพาะการผลักดันเศรษฐกิจข้างในเท่านั้น เพราะช่วงหลังซาอุฯไม่ต้องการพึ่งพิงรายได้จากน้ำมันเท่านั้น ในสภาวะอย่างนี้เรื่องแรงงาน การลงทุนจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับซาอุฯ ซึ่งไทยมีจุดเด่นทั้งการส่งแรงงานไปซาอุฯ เรื่องการท่องเที่ยว เราจะไปเสริมและไปสร้างความร่วมมือกับซาอุฯ ได้ คนซาอุฯเองก็คงมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ส่วนคนของเรามีกำลังซื้อเยอะมาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเราเห็นคนของยูเออี กาตาร์ บาห์เรน เข้ามารักษาพยาบาลในบ้านเรา เข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยมาทั้งครอบครัวและมาอยู่พักเป็นเวลานาน มีการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก วันนี้จะเห็นคนซาอุฯเข้ามาเที่ยวไทยมากยิ่งขึ้น ซาอุฯ ยังเป็นประเทศในกลุ่มคาบสมุทรอาหรับที่มีประชากรมากที่สุด ฉะนั้นรายได้จากการท่องเที่ยว ที่คนอาหรับจะมาใช้จ่ายในบ้านเรา คิดว่าเห็นชัดเจน อีกทั้งภายใต้โครงการวิชั่น 2030 มีงานจำนวนมากในซาอุฯ ที่รอแรงงานต่างชาติเข้าไปช่วยพัฒนา เข้าไปสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และเข้าไปช่วยเรื่องดิจิตอลเทคโนโลยีต่างๆ ขณะเดียวกันซาอุฯ มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่บ้านเราเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก รวมถึงส่งออกอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลมากที่สุดในโลก จุดแข็งของเราตรงนี้ทำให้ซาอุฯ สนใจ และการไปเยือนซาอุฯ ครั้งนี้ ปัญหาชายแดนภาคใต้ก็คงจะได้รับอานิสงส์ด้วย เราก็จะมียักษ์ใหญ่ในโลกมุสลิมให้การสนับสนุน ช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ ถามว่าใครคือประเทศชั้นนำของโอไอซีที่มาตรวจสอบสังเกตการณ์ในชายแดนภาคใต้ 3-4 ครั้งแล้วก็คือซาอุฯ ฉะนั้นซาอุฯ ก็จะเป็นอีกหนึ่งที่สนับสนุนเราในเวทีโลกในการแก้ปัญหาภาคใต้ ที่ผ่านมาเรามีประเทศพันธมิตรมุสลิมหลายประเทศ เช่น บาร์เรน ช่วยเรื่องไม่ให้ฝ่ายต่างๆ นำเอากรณีของชายแดนภาคใต้ไปเป็นวาระสำคัญในการประชุมของโอไอซี ซึ่งสุ่มเสี่ยงจะสูญเสียภาพลักษณ์ แต่ก็มีประเทศมุสลิมหลายประเทศที่เป็นเพื่อนเราช่วยอธิบายให้กับประชาคมโลกได้รับรู้ และให้โอไอซีมีจุดยืนที่เหมาะสม ซาอุฯ จะป็นอีกประเทศที่เข้ามาช่วยเรา ซาอุฯ เริ่มเปิดประเทศเพราะอนาคตโลกจะใช้น้ำมันน้อยลง วันนี้โลกกำลังพยายามหาพลังงานทางเลือกและคำนึงถึงเรื่องของภาวะโลกร้อน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาต้องมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น อีกประการคือตอนหลังซาอุฯ มีปัญหากับยุโรปและสหรัฐ จริงๆ แล้วนับตั้งแต่เหตุการณ์ 911 เพราะเกิดกระแสอิสลามโฟเบีย สหรัฐก็กดดันซาอุฯ เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย แล้วซาอุฯ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่อง อย่างเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียชีวิตของ คาซ็อกกี นักข่าววอชิงตันโพสต์ และมีอีกหลายเรื่องที่ซาอุฯไม่สบายใจกับบทบาทของสหรัฐ เช่น การไปทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน รวมถึงสหรัฐไม่ให้ความช่วยเหลือกับ ซาอุฯ เหมือนในอดีต การโจมตีคลังน้ำมันของ ซาอุฯในปี 2519 แต่สหรัฐช่วยอะไรซาอุฯไม่ได้เลย ตอนหลังแม้ยังเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอยู่ แต่ต้องหาพันธมิตรเพิ่มเติม โดยเฉพาะจีน รัสเซีย และซาอุฯ ก็มี นโยบายให้ความสัมพันธ์กับเอเชียมากขึ้น เพราะเอเชียเป็นพื้นที่ที่วันนี้มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะเกิดความเจริญรุ่งเรือง หลายประเทศในทวีปเอเชียผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจอย่างอินเดีย จีน และเอเชียก็เป็นแหล่งอาหารที่จะช่วยซาอุฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้ซาอุฯ หันมาให้ความสำคัญกับเอเชีย รวมถึงไทย ทั้งนี้ เป็นความพยายามของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลชุดนี้ เพียงแต่รัฐบาลชุดนี้ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงของซาอุฯ 5-6 ปีที่ผ่านมา ซาอุฯ ปรับโครงสร้างการบริหาร ผู้นำรุ่นเก่าส่งอำนาจต่อให้ผู้นำรุ่นใหม่ และผู้นำเหล่านี้พร้อมก้าวข้ามหรือลืมอดีตที่ปวดร้าวกับไทย และมุ่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายต่างประเทศ ซาอุฯ พยายามกลับไปคืนดีกับประเทศต่างๆ เช่น กับกาตาร์ ที่ก่อนหน้านี้ตัดสัมพันธ์กันยิ่งกว่าไทยอีก ทั้งๆ ที่ปัญหาคาราคาซังในอดีตยังดำรงอยู่ คล้ายๆ ไทยที่ยังไม่ได้เคลียร์ปัญหากัน แต่ซาอุฯก็มีนโยบายสานสัมพันธ์ เป็นอานิสงส์ที่รัฐบาลชุดนี้ได้รับ เพราะจริงๆ ก่อนหน้านี้เราก็เห็นความพยายามหลายครั้งโดยเฉพาะอย่างสมัย นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างแข็งขัน รวมถึง พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ชัดเจนว่าทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุฯ การไปเยือนครั้งนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากกว่าผลเสีย เพียงแต่มีประเด็นท้าทาย เรื่องความวุ่นวาย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งระหว่างซาอุฯกับอิหร่าน การแข่งขันกันระหว่างจีนกับสหรัฐ ในตะวันออกกลาง และ สนามในซาอุฯ ก็เป็นสนามหนึ่งของการแข่งขันระหว่างสองประเทศนี้ ฉะนั้นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันกันของมหาอำนาจ เป็นเรื่องที่ไทยควรศึกษาอย่างใกล้ชิดและระมัดระวังในการเดินนโยบายต่างประเทศต่อกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง หรือต่อซาอุฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน