สารัตถะวันมาฆบูชา – มาฆบูชามาจากมาฆปูรณมีบูชา หรือมาฆบูรณมีบูชา แปลว่าการบูชาในวันขึ้น 15 ค่ำ หรือ วันเพ็ญเดือน 3 สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นวันสำคัญที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์สาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ เมืองหลวงแคว้นมคธ เพื่อให้พระสาวกเหล่านั้นมีหลักการร่วมกันในการประกาศพระศาสนา คือ ออกไปเทศนาสั่งสอน พระธรรมแก่ประชาชนตามท้องถิ่น บ้านเมือง และประเทศต่างๆ ทั่วไป จาตุรงคสันนิบาต แปลว่า การประชุมพระสาวกซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 คือ พระสาวกทั้งหลายที่มาประชุมล้วนเป็นเอหิภิกขุ เป็นพระอรหันต์ มาพร้อมจำนวน 1,250 องค์โดยมิได้นัดหมาย และเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ ประเทศไทยกำหนดเป็นวันสำคัญ เริ่มมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ให้วัดและส่วนราชการจัดกิจกรรมเพื่อให้พุทธศาสนิกชน บำเพ็ญกุศลปฏิบัติธรรม การประชุมครั้งนี้ พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์คือคำสอนที่เป็นหลักใหญ่ หมายถึงธรรมที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา ถือเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา” แบ่งเป็น 3 ส่วน แต่ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไผจำขึ้นใจและถือว่าเป็นสารัตถะ ได้แก่ การไม่ทำบาปทั้งปวง การยังกุศลให้ถึง พร้อม และการทำจิตใจของตนให้ผ่องใสนั่นเอง ทั้ง 3 ข้อนี้ เพื่อแสดงหลักการและแนวทางที่เป็นลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนา ซึ่งทำให้สามารถแยกความแตกต่างจากลัทธิและศาสนาอื่น เป็นหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในหลักคำสอน ที่ลึกซึ้งและขั้นสูงต่อไป สําหรับกิจกรรมสำคัญในปีนี้ กรมการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และ มหาเถรสมาคมกำหนดจัดกิจกรรมบำเพ็ญกุศลทั้ง ณ ที่ตั้งและทางระบบออนไลน์ อันเนื่องการแพร่ระบาด ของเชื้อโควิด-19 ส่วนกลางจัดขึ้นที่วัดสระเกศ โดยเชิญผู้แทน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเครือข่ายพระพุทธศาสนา และสถานศึกษา ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญกุศล ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตักบาตร และเวียนเทียน ในส่วนภูมิภาค ให้จัดไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ทำวัตรสวดมนต์ เจริญจิตต ภาวนา ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน ในรูปแบบปกติ ณ สถานที่ที่กำหนด ที่สำคัญชาวพุทธจะต้องยึดกุมสารัตถะ ของวันมาฆบูชาที่เป็นคำสอนหลักใหญ่ให้ถึงพร้อม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน