คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบหลักการและมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น บนพื้นฐานสุขภาพ ที่ดีและเศรษฐกิจรุดหน้า

โดยประเทศอื่นๆ ก็ใช้นโยบายนี้เช่นกันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในระดับที่สากลยอมรับ คือเสียชีวิต 1 ต่อ 1,000 ราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตของไทยอยู่ที่ไม่ถึง 1 ต่อ 1,000 ราย

คณะกรรมการโรคติดต่อฯ ระบุว่า แม้เข้าสู่โรคประจำถิ่นแล้ว แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ใส่หน้ากาก เลี่ยงกิจกรรมคนหมู่มาก ล้างมือ ตรวจเอทีเค ฉีดวัคซีน เพื่อลดอัตราเสี่ยง

ทั้งยังเห็นชอบแผนรณรงค์วัคซีนกระตุ้น ก่อนเทศกาลสงกรานต์ สำหรับผู้รับเข็มที่ 2 หรือเข็มที่ 3 มานานกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะ กลุ่ม 608 ซึ่งคาดว่าช่วงดังกล่าวโควิดระลอก โอมิครอนจะเข้าสู่ช่วงสูงสุด

สําหรับแผนและมาตรการไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น คณะกรรมการโรคติดต่อฯ แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยระยะที่ 1 วันที่ 12 มี.ค.ถึงต้นเดือนเม.ย. เรียกว่าระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาดและความรุนแรง

ระยะที่ 2 เดือนเม.ย.-พ.ค. เป็นการคงระดับ ผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ จากนั้นระยะที่ 3 ปลายเดือนพ.ค. ถึงวันที่ 30 มิ.ย. จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1-2 พันรายต่อวัน

สุดท้ายระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป คือออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยแผนดำเนินการทั้งหมดจะเกิดขึ้นภายใน 4 เดือน

นับเป็นแผนการที่สังคมเฝ้ามองอย่างมีความหวัง เพราะขณะนี้หลายประเทศตะวันตกเริ่มแล้ว และส่งผลต่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันยังอยู่ในเกณฑ์สูง เฉลี่ยกว่า 2 หมื่นราย เมื่อรวมผลการตรวจเอทีเคพบผู้เข้าข่ายอีก 2-3 หมื่นราย เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นรายต่อวัน

ที่ผ่านมารัฐบาลให้ผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมาก เข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน เพื่อเหลือเตียงโรงพยาบาลไว้สำหรับผู้มีอาการหนัก ต้องใช้ออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ

แต่ปัญหาขณะนี้คือโทรศัพท์สายด่วนลงทะเบียนรักษาตัวที่บ้าน และการตอบรับจากหน่วยบริการยังเป็นไปอย่างล่าช้า โดยเฉพาะคู่สายที่ ไม่เพียงพอ แม้จะเพิ่มคู่สาย ระดมเจ้าหน้าที่ และจิตอาสา แต่ก็ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร

ดังนั้น รัฐบาลยังต้องเร่งปรับปรุงส่วนนี้ด้วย เพื่อเดินหน้าตามแผนภายใน 4 เดือนไปสู่โรคประจำถิ่น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน