อีสานโพล มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนภาคอีสาน เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด มีหลายประเด็นน่าสนใจ และนำไปสู่การขับเคลื่อนต่อ

ผลสำรวจพบว่าประชาชนภาคอีสานเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัด และท้องถิ่นมากขึ้น ที่สำคัญส่วนใหญ่เห็นว่าจังหวัดในภาคอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร

มีเพียงส่วนน้อยเชื่อว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีข้อเสียมากกว่าดี และเห็นด้วยว่ามีหลายจังหวัดใหญ่พร้อมนำร่อง อาทิ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี เป็นต้น

แสดงถึงความตื่นตัวของประชาชนอีสานต่อประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจท้องถิ่นให้มากขึ้น

ขณะที่เมื่อลงรายละเอียด โดยสอบถามถึงความคิดเห็นว่ารัฐบาลกระจายอำนาจการบริหาร งบประมาณให้จังหวัด และท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด เกือบครึ่งร้อยละ 47.4 เห็นว่ากระจายอำนาจน้อยเกินไป

ส่วนความพึงพอใจกับการบริหารงานของผู้ว่าฯ คนปัจจุบัน พบว่าได้คะแนนเฉลี่ยค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และร้อยละ 47.9 เห็นว่ามีข้อดีมากกว่าเสีย หากจังหวัดได้รับการกระจายอำนาจ และมีเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับกทม.

จากการสำรวจดังกล่าวเป็นผลสะเทือนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้สมัครแต่ละคนนำเสนอวิสัยทัศน์ นโยบาย แข่งขันกันเข้มข้น เป็นความเปลี่ยนแปลง และความงดงามทางประชาธิปไตย

คงไม่เฉพาะคนอีสานเท่านั้น แต่คนภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก และใต้ ต่างก็อยากเลือกผู้ว่าฯ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการเมืองไม่ปกติ ตั้งแต่โครงสร้างประเทศ รัฐธรรมนูญ รัฐราชการรวมศูนย์ ฝ่ายอนุรักษนิยมทางการเมืองครองอำนาจ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการกระจายอำนาจท้องถิ่น และการพัฒนาประเทศ

ที่ผ่านมาแม้มีเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่อำนาจส่วนใหญ่ยังอยู่กับผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งโดยส่วนกลาง ซึ่งไม่รู้ปัญหาเหมือนคนพื้นที่

รวมถึงงบประมาณและการจัดเก็บภาษีที่ส่วนกลางควบคุม ไม่สามารถบริหารจัดการเองได้เต็มที่ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่วนกลางยัดเยียดให้ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น

ผลสะท้อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ประชาชนพร้อมและตื่นตัวเรื่องการกระจายอำนาจให้มากขึ้น และเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน